จีนหวั่นประชากรสูงวัยพุ่ง ฉุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจชาติ

สังคมผู้สูงอายุเป็นสถานการณ์ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ แม้แต่ประเทศที่มีประชากรมหาศาลอย่าง “จีน” ที่หวาดวิตกว่าจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานการณ์แรงงานของประเทศ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “หลี่เหิง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในประเทศของจีน เปิดเผยว่า ประชากรจีนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มคนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือราวทศวรรษ 1960 กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ โดยคาดว่าผู้ที่ยื่นขอรับบำนาญจะเพิ่มขึ้นแตะ 300 ล้านคนภายใน 5 ปีข้างหน้า เพิ่มจาก 254 ล้านคนในปี 2019 และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านคนภายในปี 2033 ก่อนที่จะแตะระดับสูงสุด 487 ล้านคนในปี 2053 ซึ่งเวลานั้นหากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลราว 1 ใน 3 ของชาวจีนทั้งประเทศเป็น “ผู้สูงวัย”

สถานการณ์จำนวนประชากรสูงวัยอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (ปี 2021-2025) และพิมพ์เขียวพัฒนาเศรษฐกิจปี 2035 โดยเฉพาะภาคผลิตและการส่งออกของประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมหาศาล

หลี่ีเหิงระบุว่า จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น กำลังนำมาซึ่งความท้าทายและผลกระทบครั้งใหญ่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น ทางการจีนจึงวางแผนรับมือด้วยการผลักดันนโยบายเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิด การดูแลเด็ก ระบบการศึกษา การเกษียณอายุ เงินบำนาญ การกระจายรายได้ รวมทั้งรัฐสวัสดิการที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุ

โดยผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการในประเทศจีน ได้มองบทเรียนจากประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวแล้วในปัจจุบันอย่าง “ญี่ปุ่น” ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องหันมาเน้นภาคการส่งออก ขณะที่ภาวะหนี้สินภายในประเทศเติบโตมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป

“อลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ “นาติซีส์” บริษัทการลงทุนชี้ว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านแรงงานของจีน และอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของจีนในตลาดโลกลดลง

ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการขยายอายุเกษียณ รวมถึงการลงทุนระบบสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพประชากรมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ นโยบายดังกล่าวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาผลิตภาพของแรงงานที่ลดลงได้

รัฐมนตรีหลี่ีเหิงระบุว่า จีนจะต้องเพิ่มอัตราการเกิดให้ถึงระดับที่เหมาะสมเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง แม้ว่าในปี 2015 รัฐบาลจีนยกเลิก “นโยบายลูกคนเดียว” ที่ใช้มายาวนาน โดยอนุญาตให้ชาวจีนสามารถมีบุตร 2 คนได้ แต่ปัจจุบันจำนวนทารกแรกเกิดของจีนยังคงระดับต่ำอยู่ที่ 14.65 ล้านคนในปี 2019 ซึ่งต่ำกว่าปี 2016 ที่อัตราการเกิดของจีนอยู่ที่ 17.86 ล้านคน ซึ่งการเร่งส่งเสริมให้ชาวจีนมีบุตรมากขึ้นจึงจะเป็นหนทางแก้ปัญหาสังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลดีต่อธุรกิจในประเทศบางกลุ่ม ผลสำรวจของธนาคารเพื่อการลงทุน “เครดิตสวิส” พบว่าชาวจีนรุ่นเบบี้บูมเมอร์กว่า 245 ล้านคนในปัจจุบันมีความมั่งคั่ง และเต็มใจที่จะใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และสามารถชดเชยต่อการสูญเสียกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้