เฟซบุ๊ก เสี่ยงถูกบังคับขาย อินสตาแกรม-วอทส์แอปป์ จากคดีผูกขาดตลาด

REUTERS/Johanna Geron/Illustration/File Photo

เฟซบุ๊กอาจต้องขายอินสตาแกรม, วอทส์แอปป์ จากการถูกยื่นฟ้อง 2 คดีในสหรัฐฯ ถือเป็นความท้าทายทางกฎหมายที่สำคัญ ที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้กำลังเผชิญ

วันที่ 10 ธันวาคม 2563 อัลจาซีรา รายงานว่า คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (เอฟทีซี) และเกือบทุกรัฐในสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง “เฟซบุ๊ก อิงค์” เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยกล่าวหาว่าเฟซบุ๊ก ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งการยื่นฟ้องร้องครั้งนี้ ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นยักษ์เทคโนโลยีรายที่ 2 ที่เผชิญความท้าทายทางกฎหมายครั้งใหญ่

เอฟทีซี เผยในแถลงการณ์ว่า จะขอคำสั่งศาล ที่อาจมีการบังคับให้เฟซบุ๊กขายทรัพย์สินหลายอย่าง ซึ่งรวมถึง อินสตาแกรม และ วอทส์แอปป์

หนึ่งในข้อเรียกร้องของ 46 รัฐ เช่น วอชิงตัน ดีซี และ กวม คือการขอให้การครอบครองอินสตาแกรมและวอทส์แอปป์ ของเฟซบุ๊ก ถูกตัดสินว่า “ผิดกฎหมาย”

“เลทิเทีย เจมส์” อัยการรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า “เป็นเวลาเกือบทศวรรษ ที่เฟซบุ๊กใช้การครอบงำและการผูกขาดเพื่อบดขยี้คู่แข่งรายเล็ก รวมถึงทำลายการแข่งขัน ซึ่งเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้งานทุกวัน

“เจมส์” กล่าวอีกว่า เฟซบุ๊กใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการครอบครองคู่แข่ง ก่อนที่พวกเขาจะตั้งตัวทันและรอดพ้นจากการครอบงำของเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊ก กล่าวว่า กำลังตรวจสอบข้อมูลของเอฟทีซี และข้อร้องเรียนเรื่องการผูกขาดขอรัฐต่าง ๆ

เฟซบุ๊ก เผยว่า ตอนนี้รัฐบาลต้องการจู่โจมบริษัทโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนธุรกิจที่ขยายกว้างขึ้น หรือผู้คนที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัททุกวัน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง “กูเกิล” บริษัทลูกของ “อัลฟาเบต อิงค์” เมื่อเดือนตุลาคม โดยกล่าวหาว่า “กูเกิล” ใช้อำนาจทางการตลาดเพื่อสกัดคู่แข่ง

คดีดังกล่าวถือเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค เมื่อเทียบกับการฟ้องร้อง “ไมโครซอฟต์ คอร์ป” เมื่อปี 2541 ซึ่งในที่สุดรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็สามารถปิดคดีดังกล่าวได้ แต่ก็ใช้เวลาหลายปีในการต่อสู้บนชั้นศาล รวมถึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไมโครซอต์ไม่สามารถขัดขวางคู่แข่งได้ โดยครั้งนั้นรัฐบาลกลางได้รับคำชื่นชมในการจัดการกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต

ขณะที่หุ้นของเฟซบุ๊กร่วงลงมากถึง 3% หลังมีข่าว ก่อนจะไต่ขึ้นมาเหลือ 2%