เข้ม ‘ตรวจย้อนกลับอาหาร’ US.FDA จ่อออกประกาศฉบับใหม่

คอลัมน์ ระดมสมอง
ฝ่ายเกษตร ประจำกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US.FDA) ได้ประกาศร่างระเบียบย่อยการจดบันทึกเพิ่มเติมเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับอาหารบางชนิด หรือ “Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods” พร้อมกับการเผยแพร่ร่าง “รายการอาหารเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ” หรือ “Food Traceability List” ที่กำหนดรายละเอียดรายการอาหารที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เสนอนี้ ซึ่งจะประกอบด้วย ผักใบเขียว ผลไม้ และผักสดที่หั่นแล้ว ปลาบางชนิด ไข่ทั้งเปลือก เนยถั่ว และอื่น ๆ

ร่างข้อเสนอนี้เป็นส่วนสำคัญของแผนงานความปลอดภัยด้านอาหารที่ชาญฉลาดยุคใหม่ (New Era of Smarter Food Safety Blueprint) ของ US.FDA ซึ่งจะบรรจุอยู่ภายใต้มาตรา 204 (d) ของกฎหมายการปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหาร (FSMA) ของ US.FDA

หากข้อเสนอได้รับการประกาศเป็นระเบียบสุดท้าย ก็จะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้ง ข้อมูลที่จำเป็นจะต้องส่งต่อไปยังผู้ประกอบการถัดไปในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

แม้ว่าร่างระเบียบนี้จะจำกัดเฉพาะอาหารบางชนิด แต่ก็เป็นการวางรากฐานแนวทางที่เป็นมาตรฐานในการจัดเก็บบันทึกเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ และปูทางสำหรับอุตสาหกรรมที่จะนำมาใช้ เพื่อบูรณาการและยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลให้มากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ US.FDA ได้นำมาตรฐานเดิมซึ่งผู้ประกอบการอาจใช้อยู่แล้วมาจัดทำเป็นมาตรฐานใหม่นี้เท่าที่สามารถจะทำได้

ตามระเบียบเดิม US.FDA กำหนดให้ผู้ประกอบการอาหารส่วนใหญ่ต้องจัดทำ และรักษาบันทึกเพื่อให้ทราบแหล่งที่มาก่อนหน้า และผู้รับช่วงอาหารรายแรกหลังจากนี้ (โดยทั่วไปเรียกว่าการเก็บบันทึกแบบ “หน้าหนึ่ง หลังหนึ่ง” “one-up, one-back”) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานสำหรับการบันทึกการตรวจสอบย้อนกลับ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอสำหรับเชื่อมโยงการส่งอาหารผ่านแต่ละจุดในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้ ระบบบันทึกข้อมูลส่วนใหญ่ยังคงใช้เอกสารเป็นหลัก และขาดภาษาที่เป็นสากลที่จะใช้ตลอดทั้งอุตสาหกรรม จึงอาจทำให้ยากต่อการติดตามแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์หากมีความจำเป็น และทำให้สืบสวนการระบาดของโรคจากอาหารส่วนมากชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ร่างข้อเสนอใหม่นี้จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับดีขึ้น โดยจะช่วยให้ US.FDA สามารถระบุแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนได้รวดเร็วขึ้น ลดขอบเขตของการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ และสามารถดำเนินการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงได้ทันท่วงทีมากขึ้น ทำให้สามารถเรียนรู้กระบวนการเกิดการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต

หัวใจของร่างข้อเสนอนี้ คือ ข้อกำหนดที่ให้ผู้ผลิต แปรรูป บรรจุ หรือเก็บอาหารที่ระบุไว้ในบัญชีอาหารเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ (Food Traceability List : FTL) จัดทำและรักษาบันทึกที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การติดตามที่สำคัญ (Critical Tracking Event : CTEs) บางอย่าง ได้แก่ การเลี้ยง/เพาะปลูก การรับ การแปรรูป การสร้างขึ้นมา และการจัดส่ง

โดยผู้ประกอบการจะต้องจัดทำและรักษาบันทึกของแต่ละเหตุการณ์การติดตามที่สำคัญ ซึ่งมีองค์ประกอบข้อมูลหลัก (Key Data Elements : KDEs) เช่น รหัสลอตการตรวจสอบย้อนกลับ วันที่ได้รับ วันที่จัดส่งและรายละเอียดผลิตภัณฑ์ โดยรหัสลอตการตรวจสอบย้อนกลับ เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงและช่วยอำนวยความสะดวกการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการตรวจสอบระหว่างการระบาดของโรคจากอาหารและการเรียกคืน

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ภายใต้ระเบียบจะต้องจัดทำและรักษาบันทึกที่เกี่ยวกับโปรแกรมการตรวจสอบย้อนกลับภายใน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้าใจแนวทางปฏิบัติในการเก็บบันทึกและการดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับของสถานประกอบการได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันร่างข้อเสนอจะกำหนดให้การเก็บบันทึกอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ แบบอิเล็กทรอนิกส์ บันทึกเอกสารต้นฉบับ หรือสำเนาต้นฉบับ และยังระบุว่า ในกรณีที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากอาหาร การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ หรือภัยคุกคามอื่น ๆ ต่อสุขภาพของประชาชน

US.FDA อาจกำหนดให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ส่งแผ่นตารางทำการ (spreadsheet) ซึ่งมีข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับที่เกี่ยวข้องสำหรับอาหาร ที่ระบุและช่วงวันที่ โดยให้ส่งในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปแล้ว US.FDA สนับสนุนให้ธุรกิจอาหารทุกแห่งเก็บรักษาบันทึกการตรวจสอบย้อนกลับทางอิเล็กทรอนิกส์หากทำได้ เพื่อเร่งการระบุข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับเมื่อจำเป็นเพื่อจัดการกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน

อนึ่ง ข้อกำหนดที่เสนอนี้จะบังคับใช้กับอาหารที่อยู่ในรายการ FTL เท่านั้น ซึ่งรวมถึงอาหารที่ระบุว่าเป็นส่วนประกอบ และมีข้อยกเว้นหลายประการ เช่น หากมีกระบวนการลดเชื้อโรค (kill-step) ในอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องบันทึกการตรวจสอบย้อนกลับเพิ่มเติมหลังจากกระบวนการดังกล่าว แต่จะต้องมีการจัดทำและเก็บรักษาเอกสารขั้นตอนการทำ kill-step

ทั้งนี้ US.FDA จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างระเบียบและบัญชีรายการอาหารเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับเป็นเวลา 120 วัน นับจากวันที่เผยแพร่ร่างระเบียบนี้ (ภายในวันที่ 21 มกราคม 2564) และในช่วงความคิดเห็นสาธารณะ US.FDA จะจัดการประชุมสาธารณะ 3 ครั้ง สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมสาธารณะจะแจ้งไว้ในประกาศครั้งต่อไป

สำหรับรายการอาหารเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ อาทิ ชีส นอกเหนือจากชีสแข็ง ไข่ทั้งฟอง เนยถั่ว แตงกวา สมุนไพรสด ผักใบเขียว รวมถึงผักใบเขียวหั่นเป็นชิ้น แตง พริก ต้นอ่อนทุกสายพันธุ์ มะเขือเทศ ผลไม้เมืองร้อน ผลไม้และผักหั่นเป็นชิ้น ปลา รวมถึงปลารมควัน สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หอย หอยสองฝา สลัดพร้อมรับประทาน ฯลฯ