สหรัฐเขย่าอาณาจักร ‘เฟซบุ๊ก’ ฟ้องร้องบังคับ ‘แยกกิจการ’

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟทีซี) ยื่นฟ้องร้องเฟซบุ๊ก อิงก์ กล่าวหาว่ามีพฤติกรรมอันขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ด้วยการเข้าซื้อกิจการของคู่แข่ง เพื่อครอบงำตลาดและทำให้บริษัทมีอำนาจผูกขาด ส่งผลทำลายสภาพการแข่งขันและลงเอยด้วยการส่งผลกระทบต่อผู้ใช้จำนวนมหาศาลทั่วโลก

อัยการเจ้าของคดีกล่าวหาเฟซบุ๊ก ว่า ใช้ยุทธวิธี “ซื้อหรือไม่ก็ฝัง” กิจการที่มีโอกาสเป็นคู่แข่ง ทำให้ต้องบังคับให้ “ขายกิจการ” ที่ครอบครองมาเหล่านั้น หรือไม่ก็ “ปรับโครงสร้าง” บริษัทที่เฟซบุ๊กซื้อมาแบบไม่ถูกต้องต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า ถ้อยคำเหล่านั้นหมายถึง การบังคับให้เฟซบุ๊ก “แยกกิจการ” ที่มีอยู่ออกเป็นอิสระจากกัน หรือไม่ก็ “ขายกิจการ” ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักอย่าง อินสตาแกรม ซึ่งเฟซบุ๊กซื้อมาด้วยเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2012 และวอตส์แอป ที่ซื้อมาในอีก 2 ปีให้หลัง ด้วยเม็ดเงิน 16,000 ล้านดอลลาร์

ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนต่อการฟ้องร้องครั้งนี้ก็คือ เฟซบุ๊กพร้อมที่จะต่อสู้ครั้งนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบังคับแยกกิจการ

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อต่อสู้ของเฟซบุ๊ก ไม่ใช่การโน้มน้าวให้เห็นว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาด แต่เป็นการต่อสู้ด้วยการชี้ให้เห็นว่า เมื่อครั้งที่เข้าซื้อกิจการของบริษัททั้งสอง องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อยับยั้งการฟ้องในครั้งนี้จึงเหมือนกับการดำเนินการย้อนหลัง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อแวดวงธุรกิจโดยรวมทั้งหมด

ไม่ว่าผลของคดีที่หลายคนถือว่าเป็น “แลนด์มาร์ก” ครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบอกตรงกันว่า สิ่งที่แน่นอนแล้วก็คือ คดีจะยืดเยื้อ กินเวลายาวนาน

ในแง่หนึ่ง การต่อสู้คดีบังคับแยกกิจการครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊กแน่ อย่างน้อยที่สุดก็สร้างแรงกดดันต่อมูลค่าหุ้นในตลาด ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งไม่เป็นผลดีแน่

แต่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ก็ยืนกรานจะสู้จนถึงที่สุด ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

เหตุผลเพราะในเวลานี้รายได้ของบริษัท ที่ขยายตัวอยู่ได้นั้นขึ้นอยู่กับ “อินสตาแกรม” เป็นสำคัญมานานแล้ว ขณะที่ “วอตส์แอป” ก็เป็น “หัวใจ” ของแผนธุรกิจดิจิทัลในอนาคตอันใกล้ของเฟซบุ๊ก การเสียทั้งสองกิจการไป จะทำให้มูลค่าในอนาคตของเฟซบุ๊กหายไปมหาศาล

การบังคับให้ขายกิจการทั้งสองออกไปย่อมทำลายเดิมพันอนาคตเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

เนื่องจากซีอีโอของเฟซบุ๊กตระหนักในความจริงที่ว่า ตัวโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” ตกอยู่ในสภาพทรง ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว ไม่เพียงจำนวนยูสเซอร์จะไม่ขยายตัว พื้นที่โฆษณาบนเฟซบุ๊กก็เริ่มจำกัด หากเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่จะยิ่งสร้างประสบการณ์ไม่ดีต่อยูสเซอร์ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อจำนวนยูสเซอร์ในอนาคต

จึงเป็นเหตุผลที่ว่าปีนี้ เฟซบุ๊กได้สร้างเครื่องมือให้ผู้ใช้งานสามารถช็อปได้โดยตรงจากภาพหรือวิดีโอบนอินสตาแกรม และพยายามชักจูงธุรกิจทั่วโลกให้หันมาใช้วอตส์แอป เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ หรือลิงก์วอตส์แอป เข้ากับการช็อปปิ้งผ่านอินสตาแกรม

ในตลาดสำคัญ ๆ อย่างเช่น อินเดีย และบราซิล จำนวนผู้ใช้วอตส์แอปหรืออินสตาแกรม มากกว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วยซ้ำไป ในอินเดีย ผู้ใช้วอตส์แอปมีมากกว่า เฟซบุ๊กถึงกว่า 100 ล้านยูสเซอร์ ส่วนในญี่ปุ่น ผู้ใช้อินสตาแกรมก็มากกว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 70% ถ้าไม่มีทั้งอินสตาแกรม และวอตส์แอป การก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงโซเชียลคอมเมิร์ซของเฟซบุ๊ก คงยากมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา อินสตาแกรมสร้างรายได้ให้กับเฟซบุ๊กมากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับ 29% ของทั้งบริษัท

บริษัทวิจัยอีมาร์เก็ตเตอร์ประเมินว่า ปี 2020 รายได้อินสตาแกรมจะเพิ่มขึ้นเป็น 28,100 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 37% ของรายได้ทั้งหมดจากการขายโฆษณา

ส่วน ผ“วอตส์แอป” แม้ไม่ใช่ตัวสร้างรายได้ แต่เฟซบุ๊กกำลังเปลี่ยนสถานะแอปพลิเคชั่นนี้ ด้วยการเพิ่มเครื่องมือสำหรับทำการค้าผ่านวอตส์แอปเข้าไปอีกมาก ตั้งแต่ระบบชำระเงิน, ระบบการซื้อขายสินค้า และระบบให้บริการด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้จากฐานยูสเซอร์มหาศาล 2,000 ล้านคน ของ “วอตส์แอป” ทั่วโลกนั่นเอง

เดิมพันครั้งนี้ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มหาศาลมาก จนทำให้ไม่สู้คดีจนถึงที่สุดไม่ได้แน่นอน