ผลผลิต ‘เกษตร’ เวียดนามหดตัว สินค้าขาดดันราคาตลาดโลกพุ่ง

เศรษฐกิจเวียดนาม
ภาพจาก Pixabay

ผลผลิตภาคการเกษตรของเวียดนามหดตัวอย่างหนักในช่วงปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดและเหตุภัยพิบัติหลายครั้ง ส่งผลให้ราคาพืชผลการเกษตรของเวียดนามดีดตัวสูงขึ้น และกระทบถึงตลาดโลก เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสินค้าเกษตรหลายชนิด

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งสินค้าทั่วโลก นับตั้งแต่ต้นปี 2020 การส่งออกสินค้าการเกษตรของเวียดนามล่าช้าออกไปจากเดิม นอกจากนี้ ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วมหนักในเวียดนามช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด ซ้ำเติมสถานการณ์เลวร้ายจากโรคระบาด

“วู๊ วัน ทัญ” ประธานบริษัท “วีอาร์จี เจแปน รับเบอร์ เอ็กซ์ปอร์ต” ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ “ยางพารา” รายใหญ่ของเวียดนามระบุว่า การเก็บน้ำยางในปีนี้ล่าช้าเนื่องจากหลายปัจจัย ส่งผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ทำให้ต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อยางพาราลอตใหม่ชั่วคราว

ทั้งนี้เวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดราว 10% ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นถึง 3.6 แสนล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2019 ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้ราคายางในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รอยเตอร์สรายงานว่า ราคายางพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี

นอกจากนี้ “เมล็ดกาแฟโรบัสต้า” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกาแฟสำเร็จรูปก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากผลผลิตที่น้อยลงของเวียดนาม ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดถึง 40%

ปัจจุบันราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ราว 1,330 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในตลาดลอนดอน

“ชิโระ โอซาวะ” ที่ปรึกษาบริษัท “วาตารุแอนด์โค.” ผู้ค้ากาแฟรายใหญ่ของญี่ปุ่นชี้ว่า ราคาของเมล็ดกาแฟโรบัสต้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่เพียงแต่จากผลผลิตที่ลดลง แต่ยังรวมถึงความต้องการบริโภคกาแฟในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้

เช่นเดียวกับ “พริกไทย” ที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่พื้นที่ปลูกได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค. 2020-ก.พ. 2021 คาดว่าจะลดลง

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านอาหาร แต่ความต้องการพริกไทยในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของจีนที่สั่งซื้อพริกไทยจากเวียดนามจำนวนมหาศาลหลังจากที่กลับมาเปิดประเทศ ส่งผลให้ราคาพริกไทยในตลาดโลกขยับสูงขึ้น