นักลงทุนเก็งดอลลาร์ ‘อ่อน’ ยาว หนุน ‘สินทรัพย์เสี่ยง’ บูมปีหน้า

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

อิทธิฤทธิ์ของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง คิดเป็นวงเงินมโหฬาร ซึ่งผลลัพธ์ก็คืออัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์และเงินดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก ก็อ่อนค่ามากที่สุดเช่นกัน โดยนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน อ่อนค่าไปแล้ว 6% หรืออ่อนค่าที่สุดนับจากปี 2017

ผลการสำรวจของรอยเตอร์สเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่านักวิเคราะห์ราว 2 ใน 3 ประเมินว่า เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าต่อไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2021 ซึ่งจะกระตุ้นให้นักลงทุนเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อรับผลตอบแทนสูงขึ้น สร้างความคึกคักให้กับทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์ในปี 2021

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อผู้ส่งออกสหรัฐ เนื่องจากช่วยให้สินค้าแข่งขันมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ และทำให้บริษัทข้ามชาติอเมริกันมีกำไรมากขึ้น เมื่อแปลงค่าเงินต่างชาติที่เป็นคู่ค้ากลับมาเป็นดอลลาร์ เป็นบวกต่อดัชนีเอสแอนด์พี 500 ซึ่งเป็นดัชนีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ นักวิเคราะห์จึงระบุว่านี่เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ สำหรับนักลงทุนหุ้นในปี 2021

“เจอรอน บล็อกแลนด์” ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของโรเบโคชี้ว่า ดอลลาร์ที่อ่อนค่าดีต่อสินค้าวัตถุดิบที่กำหนดราคาเป็นดอลลาร์อีกด้วย ช่วยให้นักลงทุนต่างประเทศซื้อได้ในราคาถูกลง สร้างความต้องการซื้อมากขึ้น

“ดอลลาร์อ่อนช่วยหนุนเสริมสินค้าโภคภัณฑ์ถึงสองชั้น กล่าวคือนอกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดราคาเป็นดอลลาร์แล้ว ช่วงเวลาในการอ่อนค่าของดอลลาร์มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นพร้อมกับที่เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น”

นอกจากนั้น ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่จะได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ในแง่ที่ว่าประเทศเหล่านี้ซึ่งมีหนี้ในรูปดอลลาร์จะได้รับประโยชน์เมื่อต้องชำระหนี้ ซึ่งผลบวกดังกล่าวสะท้อนผ่านทางดัชนี “เอ็มเอสซีไอตลาดเกิดใหม่” ที่ปรับเพิ่มขึ้น 13% นับจากต้นปี

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ของ โซซิเอเต เจเนอราล ได้ลดน้ำหนักของดอลลาร์ในพอร์ตการลงทุนลงไปต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับแนะนำให้เพิ่มการลงทุนหุ้นในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะหุ้นบริษัทเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนที่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะกลับมาเข้มงวดนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาด และจะทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และเมื่อใดก็ตามที่ตลาดเกิดความไม่แน่นอน นักลงทุนมักจะแสวงหาสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดก็คือดอลลาร์สหรัฐ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเร็ว ๆ นี้ ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อตลาดเกิดความกังวลการระบาดรอบใหม่ของไวรัส

ทางด้านประเทศจีน หนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่ถือว่ามีความโดดเด่นที่สุดในแง่การเติบโตของจีดีพีและฟื้นตัวเร็วที่สุดหลังการระบาดของไวรัส ได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจขนาดเล็กและจิ๋วออกไปอีก โดยอนุโลมให้ธุรกิจดังกล่าวเลื่อนการชำระหนี้ออกไปเกินกว่าไตรมาส 1 ของปีหน้า และบรรดาธนาคารที่ให้กู้ยืมแก่ธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล 40% สามารถให้การสนับสนุนต่อไปเกินสิ้นปีนี้ตามความเหมาะสม

โดยชี้ว่าแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องเผชิญความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนต่อไปอีก ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กไปแล้วกว่า 3.1 ล้านราย

“หลิว เซียงตง” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจศูนย์จีนเพื่อการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่า จีนยังไม่เผชิญกับภาวะล้มละลายขนาดใหญ่ และประชาชนส่วนใหญ่มีงานทำ ธุรกิจขนาดเล็กยังเผชิญความไม่แน่นอน หากเศรษฐกิจเปลี่ยนทิศทางพวกเขาจะไม่สามารถรับมือไหว


ดังนั้น จึงยังต้องการการพยุง โดยธุรกิจขนาดเล็กดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งใช้เวลานานกว่าคนอื่นในการฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัส