จุดเปลี่ยน ศก.เอเชีย 2021 พิษ ‘โควิด’ ระบาดรอบ 2

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

 

นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่รอบแรกของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน “ภูมิภาคเอเชีย” ถูกมองว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจดีที่สุดในปีนี้ (2021) เมื่อเทียบกับชาติตะวันตก เนื่องจากสามารถควบคุมไวรัสได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การที่บางประเทศในเอเชียเริ่มมีการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ ทำให้หวั่นว่าความสดใสของเศรษฐกิจจะลดลง

บริษัทวิจัย แพนเธออน แมโครอีโคโนมิกส์ ออกรายงานเตือนว่า แม้ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ซึ่งเคยถูกไวรัสโจมตีเป็นภูมิภาคแรก ณ ปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่มาก แต่ตอนนี้บางประเทศในเอเชียกำลังต่อสู้กับการระบาดรอบใหม่ของโควิดที่เลวร้ายยิ่งกว่ารอบแรก แม้แต่ประเทศที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมไวรัสได้ดีก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น เช่น กรณี “ไต้หวัน” ที่ได้รับเสียงชื่นชมมาก ก็กลับมีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 รายเป็นครั้งแรก เมื่อสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับมาติดเชื้อครั้งแรกนับจากเดือนเมษายนปีเดียวกัน

รายงานได้ให้มุมมองว่า การที่ประเทศเอเชียเกิดการระบาดรอบ 2 จะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร

“ญี่ปุ่น” จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 23 ธันวาคม อยู่ที่ 207,007 ราย เสียชีวิต 2,941 ราย ผู้ติดเชื้อรายวันเกิน 3,000 รายเป็นครั้งแรก แต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างใช้มาตรการแบบ “ซอฟต์” ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ดังนั้นเป็นไปได้ว่าต้นปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นอาจต้องใช้มาตรการเข้มขึ้นด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกปีนี้

“เกาหลีใต้” มีผู้ติดเชื้อสะสม 53,533 ราย เสียชีวิต 756 ราย ซึ่งเกาหลีใต้ก็อยู่ในภาวะเดียวกับญี่ปุ่น คือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในเดือนธันวาคมทำสถิติใหม่ เกิน 1,000 รายเป็นครั้งแรก แต่เกาหลีใต้ใช้มาตรการเข้มงวดกว่าญี่ปุ่นในการรับมือการระบาดรอบใหม่ โดยประกาศแบนการรวมตัวเกิน 5 คน และสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยว เช่น สกีรีสอร์ต มาตรการเช่นนี้จะช่วยให้เกาหลีควบคุมความเสียหายต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่แล้วได้เป็นส่วนใหญ่

“มาเลเซีย” จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 98,737 ราย เสียชีวิต 444 ราย ประเทศนี้ควบคุมการติดเชื้อลงมาได้อย่างช้า ๆ แต่ในเดือนตุลาคมก็พุ่งขึ้นมาอีก ทำให้รัฐบาลต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมาเลเซียสดใสน้อยลงในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว เพราะการกลับมาใช้มาตรการเข้มงวด ทำให้เดิมที่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะฟื้นตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 3 ก็แผ่วลงไป อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกจะยังแข็งแกร่งต่อไป ซึ่งจะช่วยชดเชยเศรษฐกิจมาเลเซียให้ได้รับผลกระทบด้านลบจากการระบาดรอบ 2 น้อยกว่ารอบแรกค่อนข้างมาก

อีกด้านหนึ่ง ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) ออกรายงานประจำปี 2021 ระบุว่า “จีน” จะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2028 เร็วกว่าคาดการณ์เดิม 5 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะจีนควบคุมการระบาดของไวรัสได้ดีกว่า เชี่ยวชาญกว่า ขณะที่เศรษฐกิจประเทศตะวันตกได้รับผลกระทบยาวนานกว่า โดยประเมินว่าระหว่างปี 2021-2025 จีดีพีของจีนจะขยายตัวเฉลี่ย 5.7% ต่อปี จากนั้นระหว่างปี 2026-2030 จะเติบโตเฉลี่ย 4.5%

ส่วนสหรัฐอเมริกาจะเติบโตแข็งแกร่งในปีนี้ จากนั้นระหว่างปี 2022-2024 จะเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9% ต่อปี หลังจากนั้นการขยายตัวจะน้อยลงเหลือ 1.6% ต่อปี ทางด้านญี่ปุ่นจะยังคงรักษาอันดับ 3 ไว้ได้จนถึงต้นทศวรรษ 2030 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ญี่ปุ่นจะถูกอินเดียแซง อันมีผลให้เยอรมนีตกจากอันดับ 4 ไปอยู่อันดับ 5


ด้านสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก จะหล่นไปอยู่อันดับ 6 ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ถึงแม้ปีนี้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบภายหลังถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) แต่จีดีพีของประเทศเมื่อคำนวณในรูปของดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังคงสูงกว่าฝรั่งเศส 23% ภายในปี 2035 เพราะเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ