บริษัทยักษ์ทั่วโลก ปรับ ‘โมเดลทำงาน’

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่รอบโลก ต้องคงโมเดลการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา และอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คงอยู่ต่อไปแบบถาวร แม้ทุกอย่างจะกลับมาปกติถือเป็นหนึ่งใน new normal ของโลกหลังยุคโควิด-19

บิสซิเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า ปัจจุบันมีบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่จำนวนมาก ได้ตัดสินใจคงรูปแบบการทำงาน “work from home” เพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาดไปจนถึงช่วงกลางปี 2021 โดยเฉพาะบริษัทยักษ์เทคโนโลยี ตั้งแต่ “กูเกิล” ที่ประกาศขยายเวลาให้พนักงานเวิร์กฟรอมโฮมจนถึง ก.ย. 2021

ขณะที่ “แอปเปิล อิงก์” “อเมซอน” “อูเบอร์ เทคโนโลยีส์ อิงก์” รวมถึงธุรกิจการเงินอย่าง “อเมริกันเอ็กซ์เพรส” ประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านจนถึงเดือน มิ.ย. 2021 ส่วน “มาสเตอร์การ์ด” ให้พนักงานเวิร์กฟรอมโฮมจนกว่าจะสามารถควบคุมไวรัสได้

หลายบริษัทจะให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ เมื่อทุกคนเข้าถึง “วัคซีนป้องกันโควิด” ซึ่งหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ช่วงกลางปี 2021 จึงเป็นเหตุผลที่หลายบริษัทเริ่มมีแผนให้พนักงานกลับมาทำงานช่วงนั้น

ขณะเดียวกันหลายบริษัทก็ใช้โอกาสในช่วงเวลาแห่งวิกฤต ทดลองปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น “ซันดาร์ พิชัย” ซีอีโอของอัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล ประกาศให้พนักงานทำงานจากที่บ้านจนถึงเดือน ก.ย. 2021 และหลังจากนั้นจะให้พนักงานเข้าออฟฟิศเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนวันอื่น ๆ ก็ให้ทำงานในรูปแบบ “เวิร์กฟรอมโฮม” ตามนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น “ซันดาร์ พิชัย” ระบุว่า ต้องการทดลองวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อตามหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ยังคงการทำงานร่วมกันเป็นทีม และความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้น

นอกจากนี้ บางบริษัทอย่าง “เฟซบุ๊ก” และ “ทวิตเตอร์” ประกาศเตรียมเปลี่ยนวิถีการทำงานไปตลอดกาล ทั้งเรื่อง “เวลา” และ “สถานที่” ในการทำงานของบริษัทในแบบ work from anywhere

“มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตในหลายรูปแบบมาก หนึ่งในนั้นคือ “วิธีการทำงาน” โดยหลังจากนี้ การทำงานโดยไม่ต้องมาเจอกันที่ออฟฟิศ (remote working) จะยังคงเป็นเทรนด์ต่อไป เช่นเดียวกับ “แจ็ก ดอร์ซีย์” ซีอีโอทวิตเตอร์ กล่าวว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พนักงานของบริษัทได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งถ้าพนักงานอยู่ในบทบาทและสถานการณ์ที่สามารถเวิร์กฟรอมโฮมได้และอยากทำไปตลอดกาล ทางบริษัทก็สามารถสนับสนุนได้

ขณะที่ “ทิม คุก” ซีอีโอบริษัทแอปเปิล กล่าวว่า แม้ยังไม่มีอะไรมาแทนการทำงานรูปแบบ “เจอหน้ากัน” (face-to-face) แต่ก็ต้องเรียนรู้ถึงรูปแบบการทำงานนอกเหนือจากในออฟฟิศ โดยที่สามารถบรรลุผลลัพธ์เดิมได้ โดยที่ต้องเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ขณะที่ยังต้องเผชิญปัญหาโรคระบาด โดยที่ต้องการรักษาทุกอย่างที่ดีของแอปเปิล พร้อมกับการบูรณาการ การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นอกจากนี้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง “ยูนิลีเวอร์” ก็เริ่มการทดลองปรับให้พนักงานที่นิวซีแลนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อทดลองถึงประสิทธิภาพในการทำงาน หากผลการทดลองออกมาสำเร็จ อาจจะปรับใช้โมเดลการทำงานนี้ปรับโมเดลการทำงานของยูนิลีเวอร์ทั่วโลก รวมถึงบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น “ฮิตาชิ” มุ่งมั่นที่จะให้พนักงาน 70% ของทั้งหมดเวิร์กฟรอมโฮมตลอดไป

ทั้งนี้นอกจากการปรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อหวังเพิ่มศักยภาพการทำงานของพนักงานแล้ว ผลพลอยได้อีกด้านหนึ่งก็คือสามารถ “ลดต้นทุน” เรื่องออฟฟิศและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนมหาศาลไปด้วยนั่นเอง