แนวรบใหม่ ‘สหรัฐ-จีน’ 1 ใน 10 ความเสี่ยง 2021

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ถึงแม้หลายคนจะประเมินว่า ในยุคของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ “โจ ไบเดน” จะทำให้โลกหายใจได้คล่องมากกว่ายุค โดนัลด์ ทรัมป์ จากปัญหาความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เพราะเชื่อว่าไบเดนจะดำเนินนโยบายที่มีเหตุผลและเอาแน่เอานอนได้มากกว่าทรัมป์ อย่างไรก็ตาม สำหรับยูเรเซีย กรุ๊ปประเมินว่าความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอาจขยายขอบเขตกว้างขึ้นไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ดังนั้น มันจึงถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ความเสี่ยงของโลกประจำปี 2021 ตามการจัดอันดับของยูเรเซีย กรุ๊ป

รายงานของยูเรเซียฯระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน จะไม่เกิดการเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจน ทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาพื้นที่หายใจร่วมกัน แต่ความปรารถนาที่จะสร้างเสถียรภาพของทั้งสองฝ่ายก็จะถูกลดทอน ด้วยปัจจัยใหม่ 3 อย่าง คือ 1.สหรัฐแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรเพื่อกดดันจีน 2.การแข่งขันกันที่จะเยียวยาโลกในกรณีวัคซีนโควิด 3.การแข่งขันที่จะเป็นเจ้าทางด้านเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด ซึ่งโดยรวมแล้วจะทำให้การแข่งขันของสองประเทศมีความเข้มข้นพอ ๆ กับปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าอันตราย

นโยบายของ “โจ ไบเดน” จะไม่ใช้วิธีดำเนินการเพียงลำพังในการเล่นงานจีนทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่จะแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย การทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างจีนกับพันธมิตรสหรัฐดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ง่ายนักที่สหรัฐจะสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านจีน เพราะจีนจะใช้วิธีตอบโต้อย่างที่เคยทำกับออสเตรเลีย หนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐมาแล้ว ขณะเดียวกัน จีนก็จะพยายามเสนอผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อหนีการโอบล้อมของสหรัฐ ลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิดศึกทางการทูต เพิ่มความขุ่นเคืองด้านความสัมพันธ์

ทั้งสองประเทศจะพยายามเพิ่มอิทธิพลของตัวเองด้วยการแบ่งปันวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้จีนทำได้ดีกว่า เพราะระบบของรัฐบาลจีนทรงพลังกว่า จึงสามารถส่งออกวัคซีนได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ วัคซีนจีนยังง่ายต่อการขนส่ง เพราะสามารถขนส่งได้ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างอุ่นกว่าของสหรัฐ ทำให้เป็นที่ดึงดูดในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง

ความได้เปรียบเหล่านี้ทำให้จีน ทำ “การทูตวัคซีน” ได้ดีกว่าสหรัฐ จีนได้เซ็นสัญญาส่งออกและผลิตวัคซีนให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ใหญ่ ๆ และสร้างความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และซับ-ซาฮาราน แอฟริกา ส่วนสหรัฐจะต้องโฟกัสไปที่นโยบายภายในประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด จึงเหลือเวลาและทรัพยากรสำหรับการแข่งขันน้อยกว่าจีน เมื่อไม่สามารถตอบสนองจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศพันธมิตรอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ตามที่ร้องขอได้ ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของสหรัฐสู้จีนไม่ได้

การแข่งขันเทคโนโลยีและพลังงานสะอาดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเพิ่มความตึงเครียด การที่จีนตั้งเป้าเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการกำหนดจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอนก่อนปี 2060 เท่ากับการสะสมแต้มทางการทูตและทิ้งสหรัฐในยุคทรัมป์ไว้ข้างหลัง ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานสะอาดที่สำคัญ ๆ ตั้งแต่แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์และลม

แต่นโยบายของ “โจ ไบเดน” จะพยายามไล่จีนให้ทันด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในด้านนี้ และดึงห่วงโซ่อุปทานกลับมายังสหรัฐ ขณะเดียวกัน สหรัฐก็จะพยายามสร้างความอับอายให้กับจีนที่มีการลงทุนพลังงานถ่านหิน พร้อมทั้งชักชวนพันธมิตรให้กดดันจีนในประเด็นพลังงานสะอาดและปัญหาโลกร้อน แต่จีนซึ่งเริ่มติดอกติดใจในซอฟต์พาวเวอร์ของตัวเองจากการพยายามเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อนในยุคของทรัมป์ ก็คงจะไม่รามือในการแสดงบทบาทนำ

ความพยายามของสหรัฐที่จะขอการสนับสนุนจากพันธมิตรในการกดดันจีน การแข่งขันการทูตวัคซีนและเทคโนโลยีสะอาด ผสมเข้ากับความตึงเครียดที่มีมาก่อนหน้านี้ยาวนานจะทำให้ความสัมพันธ์สองประเทศซับซ้อนต่อไปอีก ความไม่ลงรอยด้านการค้าทวิภาคีและเทคโนโลยี ปัญหาของรัฐบาลจีนที่ปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และทะเลจีนใต้ จะยังลากยาวมาถึงปีนี้