ลาก่อน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ บริษัทยักษ์ตีตัวออกห่าง

จากเหตุผู้สนับสนุน “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ก่อจลาจลภายในอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่สภาคองเกรสกำลังรับรอง “โจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป และแม้พิธีการในสภาจะกลับมาดำเนินการตามปกติ แต่มีสมาชิกสภาจากพรรครีพับลิกัน 147 คนที่ลงมติ “ไม่รับรอง” ไบเดนเป็นประธานาธิบดี

ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ได้ปลุกให้ “บริษัทยักษ์ใหญ่” สหรัฐหลายแห่งลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างบริษัท “แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล” และ “ไมโครซอฟท์” “โคคา-โคลา” ที่แถลงการณ์ว่าจะยกเลิกการบริจาคเงินให้กับสมาชิกสภาคองเกรสที่ไม่รับรองไบเดนเป็นประธานาธิบดี และหลังจากนั้น สถาบันการเงินอย่าง “โกลด์แมน แซกส์” “ซิตี้กรุ๊ป” “เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค” “วีซ่า” และ “มอร์แกน สแตนเลย์” ต่างระงับการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับการสนับสนุนทางการเมืองเป็นเวลาชั่วคราวหรือถาวร

โดยทาง “แมริออท” เชนโรงแรมยักษ์ใหญ่ระบุว่า บริษัทมองการก่อจลาจลที่รัฐสภาเป็นการบ่อนทำลายระบบการเลือกตั้งที่ยุติธรรม “ซิตี้กรุ๊ป” ระบุว่า เราอยากมั่นใจว่าจะไม่สนับสนุนสมาชิกสภาซึ่งไม่เคารพต่อกฎหมาย ขณะที่ “วีซ่า” เน้นย้ำว่าทางบริษัทไม่ต้องการสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย และได้สั่งกำชับธนาคารในเครือให้ทำตามกฎและมาตรฐานของบริษัท

นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่าง “ทวิตเตอร์” “เฟซบุ๊ก” รวมทั้งโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ต่างทยอยแบน “ทรัมป์” ออกจากแอปพลิเคชั่นชั่วคราวหรือตลอดกาล ทั้งเพิ่มมาตรการควบคุมจำกัดเนื้อหา และแบนแอ็กเคานต์ผู้ใช้ซึ่งมีเนื้อหาที่อาจนำไปสู่การก่อจลาจล อาชญากรรม หรือเฟกนิวส์เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสหรัฐ
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจลาจลบุกอาคารรัฐสภา หรือการที่สมาชิกสภาพรรครีพับลิกัน 147 คนไม่รับรองไบเดนเป็นประธานาธิบดี “ทรัมป์” จึงกลายเป็นประเด็นที่ปลุกบริษัทแสดงจุดยืนและเข้ามามี “บทบาท” เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองสหรัฐ

โดยหลังจากทรัมป์และผู้สนับสนุนถูกแบนจากแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า บุคคลเหล่านั้นหันไปใช้แอปพลิเคชั่น “พาร์เลอร์” ที่ชูว่า “สนับสนุนเสรีภาพในการพูด” ทำให้พาร์เลอร์กลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่เติบโตเร็วมาก จนเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา “พาร์เลอร์” ขึ้นอันดับ 1 แอปพลิเคชั่นฟรีที่ดาวน์โหลดมากที่สุดในแอปสโตร์ของแอปเปิล

อย่างไรก็ตาม ภายในวันนั้น ทั้งแอปเปิล กูเกิล และอเมซอนดอตคอม ต่างลบแอปพลิเคชั่นพาร์เลอร์ออกจากแพลตฟอร์ม เนื่องจากไม่ได้มีการมอนิเตอร์ควบคุมเนื้อหามากพอ เข้าข่ายเป็นช่องทางให้เกิดการยุยงก่อให้เกิดอาชญากรรมได้

ด้านซีอีโอพาร์เลอร์ออกมาระบุว่า การถูกแบนเป็นความพยายามของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่ร่วมมือกันเพื่อกำจัดคู่แข่งมากกว่า และเป็นความต้องการของบริษัทเหล่านี้ที่ต้องการกำจัดโซเชียลมีเดียที่เปิดพื้นที่เสรีในการพูด ซึ่งทรัมป์เองก็มองว่าบริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำลังทำในสิ่งที่แย่สำหรับประเทศชาติ และเป็นการพยายามแบ่งแยกผู้คน แทนที่จะทำให้กลับมากลมเกลียวกัน

และจากความคิดเห็นของซีอีโอบริษัทพาร์เลอร์ ทั้งบริษัทแอปเปิลและอเมซอน ออกมาตอบโต้ในทำนองเดียวกันว่า บริษัทเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างแต่ไม่สามารถให้บริการกับผู้ใช้ที่ยุยงความรุนแรงต่อผู้อื่น ที่นำไปสู่ความประพฤติที่ผิดกฎหมายได้

แม้หลาย ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากทุกอุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาทและแสดงจุดยืนกับเหตุการณ์การเมืองสหรัฐ ทั้งเริ่มเอนเอียงมาทางฝั่งพรรค “เดโมแครต” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นเอ็นยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครตขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เมื่อบริษัทเหล่านี้ “เสียผลประโยชน์” จะยังเข้ามามีบทบาทแสดงจุดยืนเช่นนี้อีกหรือไม่ คงจะยากที่บริษัทเหล่านี้จะสามารถคงไว้ซึ่งจุดยืน หากพรรคเดโมแครตเป็นเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ผ่านกฎหมายปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลและภาษีคนรวย