โมเดล ‘แจกเงิน’ คนจน ญี่ปุ่นทำได้จริงหรือ ?

ญี่ปุ่น เงินเยน

แนวคิดโครงการ “แจกเงินเดือนคนจนหรือคนว่างงาน” (Universal Basic Income) ของประเทศญี่ปุ่นได้กลับมาเป็นที่พูดถึงในประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านได้เสนอการศึกษาโครงการ “แจกเงินเดือน” ให้กับผู้มีรายได้น้อย

เจแปนทูเดย์รายงานว่า ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นมีการถกเถียงถึงประเด็นนี้มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นแนวคิดของ “เฮโซ ทาเคนากะ” ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของ “โยชิฮิเดะ ซูงะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเป็นอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจสมัย “จุนอิจิโร โคอิซูมิ” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นข้อเสนอแจกเงิน 70,000 เยนต่อเดือน (ประมาณ 20,000 บาท) ให้กับประชาชนรายได้ต่ำ ซึ่งบุคคลที่เข้าข่ายคือคนว่างงาน เพื่อทำหน้าที่เป็น “ตาข่ายนิรภัย” และช่วยคนตกงาน ขณะที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

ทาเคนากะมองว่า การจ่ายเงินก้อนนี้ไม่ได้สร้างภาระต่อรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถโยกหรือแบ่งเงินจากกองทุนประกันสังคม บำนาญ และงบประมาณสวัสดิการต่าง ๆ มาใช้ได้ โดยหวังว่าจะสามารถเริ่มโครงการได้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่ยอมรับว่า กระบวนการพูดคุยอาจจะเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลต้องจัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้เสียก่อน

“โตโมฮิโระ อินู” รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค มหาวิทยาลัยโคโมซาวะ ระบุว่า การแจกเงินให้ผู้ที่ว่างงานหรือรายได้ต่ำอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศพัฒนาการทำงานมาเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้อาจนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำภายในสังคมที่มากกว่าเดิม และอาจมีคนที่ไม่สามารถปรับตัว

ถึงแม้ทาคาเนกะจะมีอิทธิพลต่อซูงะในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สาธารณชนญี่ปุ่นอาจไม่เห็นด้วยกับโมเดลนี้ โดยเฉพาะถ้ามีผลกระทบทำให้งบประมาณด้านสวัสดิการของรัฐลดลง

“เคจิ คานดา” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส สถาบันวิจัยไดวา กล่าวว่า หากจะทำโมเดลแจกเงิน รัฐบาลต้องเปลี่ยนระบบบำนาญและกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่หรืออาจต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นแทน

จากข้อมูลหากทำโมเดลแจกเงินประชาชนรายได้น้อยคนละ 70,000 เยนต่อเดือน จะทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินถึง 100 ล้านล้านเยน ต่อปี ซึ่งคิดเป็น 80% ของงบประมาณสวัสดิการประกันสังคมและเงินบำนาญ

“คาริน อามามิยะ” นักเขียนและนักเคลื่อนไหวต่อต้านความยากจน กล่าวว่า เงิน 70,000 เยนต่อเดือนยังไม่เพียงพอสำหรับคนยากจนอยู่ดี และวิธีที่รัฐบาลจะช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำได้คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสวัสดิการรัฐ ที่จะเป็น “ตาข่ายนิรภัย” ให้กับบุคคลกลุ่มนี้ได้แท้จริง เพราะบางคนที่ไม่สามารถทำงานได้ กลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลในสถานพยาบาลมากกว่า


ขณะที่ตัวอย่างจากประเทศฟินแลนด์ที่ได้ทดลองแจกเงินเดือนขั้นพื้นฐานกับคนตกงานหรือรายได้ต่ำ 2,000 คน เป็นเวลา 2 ปี หลังการทดลอง รัฐบาลระบุว่า การแจกเงินไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานเหมือนที่คาดหวัง แต่เป็นการสร้างความรู้สึกว่าสังคมเหลื่อมล้ำ และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากกว่า