สงครามการค้า สหรัฐ-จีน ใครคือผู้ชนะ ?

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คำถามสำคัญในห้วงสุกดิบของการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็น โจ ไบเดน ก็คือ สงครามการค้าในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมานั้น ใครคือผู้ชนะ ?

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าในสหรัฐอเมริกาคิดถึงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เพราะ ไบเดน บอกใบ้เอาไว้ก่อนหน้าเข้ารับตำแหน่งว่า จะมีการ “วิเคราะห์” นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาครั้งใหญ่ใน “เร็ว ๆ นี้” ว่านโยบายการลงโทษจีนด้วยกำแพงภาษีนั้น ส่งผลดีหรือร้ายอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกาและการค้าระหว่างประเทศโดยรวม

การวิเคราะห์ที่ว่านี้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่ภายในแวดวงผู้รับผิดชอบในรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการหารือกับบรรดากลุ่มผลประโยชน์ทางการค้าภายในประเทศทั้งหลายอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเริ่มต้นการตรวจสอบสงครามการค้าด้วยการดูปริมาณการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาเป็นลำดับแรก

สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากจีนในแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ราว 23 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าเข้าทั้งหมด ซึ่งมากพอ ๆ กับปริมาณการนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อนบ้านของสหรัฐ 2 ประเทศรวมกัน

สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2018 คิดเป็นมูลค่า 419,200 ล้านดอลลาร์

การขาดดุลการค้าดังกล่าวลดลงมาเหลือเพียง 345,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับระดับขาดดุลเมื่อปี 2016

ปัญหาก็คือ สหรัฐนำเข้าจากจีนลดลงก็จริง แต่สภาพขาดดุลการค้าโดยรวมของประเทศไม่ได้ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากสหรัฐหันไปนำเข้าสินค้าหลายอย่างที่เคยนำเข้าจากจีนจากประเทศอื่นแทน เพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากประเทศอย่างเวียดนาม, มาเลเซีย, ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งเม็กซิโกมากขึ้น

นักวิชาการเหล่านี้พบอีกด้วยว่า ผู้ส่งออกชาวจีนโดยทั่ว ๆ ไปแล้วไม่ได้ลดราคาเพื่อให้สินค้าของตนแข่งขันได้มากขึ้น ยังคงนำเข้าสินค้ามายังสหรัฐอเมริกาในราคาเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นนั้น คนที่จ่ายไม่ใช่ผู้ส่งออกจีน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นบรรดาบริษัทอเมริกันหรือไม่ก็ผู้บริโภคอเมริกันเป็นคนควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม

จีนเองเพียงแค่สูญเสียมูลค่าการส่งออกโดยรวมไปเพราะเรื่องนี้เท่านั้น

สงครามการค้าของสหรัฐอเมริกาบีบให้จีนประกาศจะนำเข้าสินค้าเกษตรและอื่น ๆ จากสหรัฐอเมริกาคิดเป็นมูลค่า 172,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 แต่จากการตรวจสอบข้อมูลจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่าจีนซื้อสินค้าตามที่ทำความตกลงไว้กับทีมเจรจาของทรัมป์เพียงแค่ 51 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่ตกลงกันไว้เท่านั้นเอง

ปัญหาส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการที่ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งวูบลงเพราะวิกฤตโควิด แถมเครื่องบินของโบอิ้งยังมีปัญหาสาหัสสากรรจ์ด้านความปลอดภัยอีกด้วย

ข้ออ้างสำคัญประการหนึ่งของทรัมป์ในการก่อสงครามการค้าหนนี้ก็คือ เพื่อดึงเอาตำแหน่งงานกลับมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่รายงานของ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ที่ได้รับการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยจาก สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-จีน (ยูเอสซีบีซี) กลับพบว่าสงครามการค้ากับจีน ส่งผลให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก ตอนที่พีกสูงสุดนั้นทำให้เกิดการสูญเสียมากถึง 245,000 ตำแหน่ง

ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ยังวิเคราะห์ไว้ด้วยว่า ในกรณีที่สงครามการค้าขยายตัวถึงขนาดทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศแยกจากกัน “อย่างมีนัยสำคัญ” ผลลัพธ์จะทำให้จีดีพีของจีนหดตัวลงราว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานจะหายไปอีก 732,000 ตำแหน่ง ในปี 2022 และอีก 320,000 ตำแหน่ง ในปี 2025

โรเดียน กรุ๊ป ตรวจสอบระดับการลงทุนโดยตรงของสหรัฐอเมริกาในจีน พบว่าไม่เพียงไม่ลดลง แต่ยังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จากระดับ 12,900 ล้านดอลลาร์ ในปี 2016 เป็น 13,300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019

โรเดียน กรุ๊ป ไปสำรวจความคิดเห็นของบริษัทอเมริกันกว่า 200 บริษัทที่ไปตั้งโรงงานการผลิตอยู่รอบ ๆ และในมหานครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนกันยายนปลายปีที่แล้ว พบว่ามีมากถึง 3 ใน 4 ที่ยืนกรานชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะโยกย้ายการผลิตออกมาจากจีนแต่อย่างใด

แม้การวิเคราะห์ครั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดจากจีนมากเท่าใดนัก แต่ก็ช่วยให้เห็นภาพได้กระจ่างชัดไม่น้อย ว่าสงครามการค้าในเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าอาจมีผู้ชนะ แต่รับประกันได้ว่า ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน