สหรัฐฯ สั่ง “ฟอร์ด” เรียกคืนรถยนต์ 3 ล้านคัน แก้ถุงลมนิรภัย

REUTERS/Wolfgang Rattay/File Photo/File Photo

หน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยรถยนต์ของสหรัฐฯ เผยในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จำเป็นต้องเรียกคืนรถยนต์ 3 ล้านคัน ซึ่งในฝั่งคนขับมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยจากบริษัท “ทาคาตะ” ในญี่ปุ่น ที่อาจมีข้อบกพร่องในการทำงาน โดยหน่วยงานดังกล่าวได้ปฏิเสธข้อเสนอของ “ฟอร์ด” บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเรียกคืนรถยนต์

วันที่ 20 มกราคม 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า สำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงสหรัฐฯ (NHTSA) เผยว่า ทาง NHTSA ได้ปฏิเสธคำร้องเมื่อปี 2560 ของ “ฟอร์ด” และ “มาสด้า” ที่ยื่นขอให้หลีกเลี่ยงการเรียกคืนรถยนต์ ที่มีการติดตั้งถุงลมซึ่งอาจเป็นอันตราย นอกจากนี้ ทาง NHTSA ยังตัดสินใจสั่งให้ “มาสด้า” เรียกคืนและซ่อมแซมถุงลมนิรภัยในรถยนต์ประมาณ 5,800 คัน ซึ่งการเรียกคืนครั้งนี้จะครอบคลุมรถยนต์หลายรุ่น ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2012

ข้อบกพร่องดังกล่าว นำไปสู่กรณีที่เกิดขึ้นได้ยากต่าง ๆ ไปจนถึงกรณีถุงลมนิรภัยแตก ซึ่งอาจทำให้ชิ้นส่วนโลหะที่เป็นอันตรายปลิวว่อน โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับความชื้นสูงเป็นเวลานาน เรื่องนี้เป็นสาเหตุให้เกิดการเรียกคืนยานยนต์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยในรถยนต์มากกว่า 67 ล้านอัน ขณะที่ทั่วโลก ซึ่งมีถุงลมนิรภัยประมาณ 100 ล้านอัน ติดตั้งในรถยนต์ของบริษัทรายใหญ่ 19 แห่ง ได้ถูกเรียกคืนแล้ว

NHTSA เผยด้วยว่า มีหลักฐานชัดเจนว่าถุงลมนิรภัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอย่างมาก

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความปลอดภัยของรถยนต์ ระบุว่า มีรถยนต์อย่างน้อย 17 ล้านคัน ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยของบริษัท “ทาคาตะ” ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข

ถุงลมนิรภัยของ “ทาคาตะ” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย ทั่วโลก และ 18 รายในสหรัฐฯ อีกทั้งยังทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 400 ราย

ด้าน “ฟอร์ด” เผยในวันเดียวกันว่า รถยนต์ที่ NHTSA สั่งให้เรียกคืนนั้น เกี่ยวข้องกับถุงลมนิรภัยของ “ทากาตะ” แต่ทาง “ฟอร์ด” ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะที่ “มาสด้า” ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด

การเรียกคืนครั้งนี้จะมีผลกับรถยนต์หลายรุ่นของฟอร์ด ได้แก่ เรนเจอร์, ฟิวชั่น, เอดจ์, ลินคอล์น, ซีเฟียร์/เอ็มเคซี, เมอร์คิวรี มิลาน และ ลินคอล์น เอ็มเคเอ็กซ์ รวมถึงมาสด้า ซีรีส์บี ตั้งแต่ปี 2007 – 2009

ทั้งนี้ รถยนต์ของ “มาสด้า” นั้น ได้รับการออกแบบโดย “ฟอร์ด” และสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มเดียวกัน อีกทั้งยังใช้ถุงลมนิรภัยแบบเดียวกับรถบรรทุกเรนเจอร์

หน่วยงานกำกับดูแล เผยอีกว่า “ฟอร์ด” มีเวลา 30 วัน ในการส่งกำหนดการแจ้งเตือนเจ้าของรถยนต์และการเยียวยาให้กับ NHTSA

เมื่อปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จากเหตุถุงลมนิรภัย “ทากาตะ” แตก เหตุเกิดบนรถยนต์ฟอร์ดเรนเจอร์ รุ่นปี 2006 ที่ถูกเรียกคืน ซึ่งถือเป็นกรณีที่มีผู้เสียชีวิตครั้งล่าสุด

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง NHTSA เผยว่า ได้ปฏิเสธคำร้องของ “เจเนอรัล มอเตอร์ส โค” (GM) ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเรียกคืนรถยนต์ 5.9 ล้านคันในสหรัฐฯ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยของ “ทากาตะ”

เดือนเดียวกัน NHTSA ระบุว่า GM ต้องเรียกคืนรถบรรทุกและรถเอสยูวี รุ่นปี 2007-2014 โดย GM ประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่าย 1,200 ล้านดอลลาร์ หากบริษัทได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย โดยต่อมาทางบริษัทเผยว่า จะเรียกคืนรถยนต์ 7 ล้านคันทั่วโลก