จับตา ‘เงินทุน’ ไหลกลับสหรัฐ อิทธิฤทธิ์แผนกระตุ้น ศก. ‘ไบเดน’

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ก่อนหน้าที่จะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งก่อนที่ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะเปิดเผยรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เพื่อต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งเรียกว่า American Rescue Plan นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อประเทศในเอเชียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากกว่าสหรัฐ เนื่องจากเอเชียสามารถควบคุมไวรัสได้ดีกว่า มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าสหรัฐที่สถานการณ์แย่ลงทุกขณะ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม หลังจาก โจ ไบเดน เผยรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาด้วยวงเงินมากกว่าที่ตลาดและนักวิเคราะห์ประเมิน ก็ทำให้นักวิเคราะห์ เช่น เจมส์ ซัลลิแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ของ เจพี มอร์แกน เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้แนวโน้มการไหลของเงินลงทุนเปลี่ยนทิศทางจากที่เคยไหลเข้าตลาดเอเชียอย่างต่อเนื่อง ก็อาจไหลกลับสหรัฐ ทั้งนี้ ซัลลิแวนระบุว่า ที่ผ่านมาเขาเห็นเงินทุนไหลเข้าเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ถึง 18 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน แต่หลังจากนี้สถานการณ์น่าจะกลับกัน

ซัลลิแวนระบุว่า บนสมมุติฐานเดิมด้วยวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 9 แสนล้านดอลลาร์ บริษัทประเมินว่าจะกดให้จีดีพีสหรัฐต่ำลงประมาณ 0.7 ถึง 2% แต่ในเมื่อแผนกระตุ้นของไบเดนเพิ่มวงเงินไปอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าที่ตลาดคาดถึง 2 เท่า ถือว่าสร้างความประหลาดใจเชิงบวกให้กับตลาด รวมทั้งต่ออัตราเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐด้วย การเปลี่ยนทิศทางการไหลของเงินทุนเช่นนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อจีนเป็นอันดับแรกในฐานะประเทศที่มีผลงานโดดเด่นด้านเศรษฐกิจและการควบคุมไวรัสในปีที่แล้ว

สำหรับประเทศจีน ซึ่งปีที่แล้วมีผลงานเศรษฐกิจโดดเด่นกว่าประเทศอื่น ๆ ขณะที่ทั่วโลกต้องสาละวนอยู่กับการรับมือไวรัส ตามรายงานของแมคควอรีระบุว่า ปีที่แล้วเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่เข้าไปยังจีน นับถึงเดือน พ.ย. อยู่ที่ 1.2947 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้มีแนวโน้มที่เอฟดีไอที่เข้าไปยังจีนจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายละเอียดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับ “โจ ไบเดน” ที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. หรือก่อนหน้าพิธีสาบานตน 6 วัน โดยภาพรวมแล้วเป็นการเพิ่มวงเงินความช่วยเหลือในมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งขยายขอบเขตการช่วยเหลือ อย่างเช่น จะส่งเงินช่วยเหลือโดยตรงให้กับชาวอเมริกันที่มีสิทธิอีกหัวละ 1,400 ดอลลาร์ เพิ่มเติมจาก 600 ดอลลาร์ที่ได้รับอนุมัติจากคองเกรสก่อนหน้านี้ รวมแล้วชาวอเมริกันจะได้รับ 2,000 ดอลลาร์ต่อหัว ในส่วนของผู้ตกงานรัฐบาลกลางจะเพิ่มเงินช่วยเหลือจากสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ เป็น 400 ดอลลาร์ และเพิ่มวงเงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น

การที่ไบเดนกล้าผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนในครั้งนี้ เป็นผลมาจากที่เดโมแครตสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งสองสภา

ส่วน “เจเน็ต เยลเลน” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีรายงานว่าในถ้อยแถลงที่เธอเตรียมกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการเงินวุฒิสภาก่อนการอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งนั้น จะเรียกร้องให้สมาชิกสภาต้อง “ลงมือทำอย่างใหญ่โต” เพื่อช่วยชาวอเมริกันให้สามารถทนต่อผลกระทบจากไวรัสในช่วงเดือนท้าย ๆ ของการระบาดได้

อีกทั้งเพื่อช่วยให้คนงานอเมริกันสามารถแข่งขันได้ โดยเธอระบุว่าทั้งประธานาธิบดีไบเดนและเธอ ไม่มีใครเสนอมาตรการบรรเทานี้โดยปราศจากการคำนึงว่ามันจะสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศ แต่ตอนนี้ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ สิ่งฉลาดที่สุดที่เราสามารถทำก็คือการ “ลงมือทำอย่างใหญ่โต” โดยเชื่อว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหรือได้รับจะมากกว่าต้นทุนที่ลงทุนไปมากมาย

ทั้งนี้ เยลเลนได้รับการสนับสนุนจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลายคน ที่ถึงกับส่งจดหมายถึงวุฒิสภา ให้รีบรับรองเยลเลนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อที่เธอจะได้รีบจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ ขณะเดียวกัน คาดว่าเยลเลนจะแสดงจุดยืนของกระทรวงเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์ด้วย หลังจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มักเรียกร้องบ่อย ๆ ให้ “ดอลลาร์อ่อนค่า” เพื่อประโยชน์ด้านส่งออก