ผู้ค้าอาหารทะเล-เนื้อสัตว์ ประท้วง ‘เบร็กซิต’ ทำสินค้าเน่า

เพียง 2 อาทิตย์หลังสหราชอาณาจักร (ยูเค) สิ้นสุดสิทธิพิเศษทางการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มมีผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้ามาประท้วงหน้าสำนักงาน รัฐบาลที่กรุงลอนดอน เนื่องจากกระบวนการส่งออกสินค้าไปยังอียูที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าได้อย่างล่าช้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ เนื้อสัตว์ และประมง เนื่องจากขั้นตอนที่ซับซ้อนนี้ทำให้สินค้า เน่าเสียก่อนที่จะเดินทางไปถึงมือผู้ซื้อได้

บีบีซีรายงานว่า ข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร ทำให้สินค้าจำพวกเกษตรอินทรีย์ที่ส่งออกจาก “เกาะบริเตนใหญ่” ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ไปยังภูมิภาคอียู รวมทั้ง “ไอร์แลนด์เหนือ” ต้องมี “ใบรับรองการตรวจสอบ” (COI) ระบุรายละเอียด เช่น ที่มา น้ำหนัก และคุณลักษณะของสินค้า โดยข้อมูลจะถูกป้อนเข้า “ระบบติดตามการเดินทางของอาหาร” (TRACES) ของอียู เพื่อตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เข้ามาในภูมิภาค

“จอห์น กิบสัน” รองประธานบริษัทผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก “เมด เฮลท์ อีซี่” กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สามารถทำรายได้มากถึง 10 ล้านปอนด์ ที่ไอร์แลนด์เหนือ แต่ข้อตกลงการค้ากับไอร์แลนด์เหนือยังขึ้นอยู่กับทางอียู ทำให้ต้องผ่านกระบวนการดังกล่าว ทำให้บริษัทได้หยุดการส่งออกสินค้าไปไอร์แลนด์เหนือตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะว่าบางครั้งส่งออกสินค้ามากถึง 300 ชนิดพร้อม ๆ กัน และต้องป้อนข้อมูลผลิตภัณฑ์เข้าระบบ ซึ่งกิบสันระบุว่า แทบจะเป็น “ฝันร้ายของพ่อค้า” ขณะที่ผู้ซื้อที่ไอร์แลนด์เหนือไม่รอ เริ่มหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแล้ว

ขณะเดียวกัน “นิค แอลเลน” ประธานสมาคมผู้ผลิตเนื้อสัตว์อังกฤษ ระบุว่า ปัญหาหลักของการส่งออกสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ คือขั้นตอนการตรวจสอบเนื้อที่ไม่มีมาตรฐานเหมือนกัน โดยผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ทุกคนต้องมีใบรับรองว่าเนื้อสัตว์ปลอดโรค แต่เอกสารมีความซับซ้อนมาก และหน่วยงานที่ออกใบรับรองกับหน่วยงานกำกับบริเวณชายแดนไม่มีมาตรฐานที่ตรงกัน ทำให้สินค้าไม่สามารถไปถึงผู้ซื้อได้

หนึ่งในผู้โชคร้ายคือ “โทนี่ เฮล” ประธาน “ดีเอช ฟูดส์” บริษัทส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเนื้อหมูจำนวน 30 ตัน ติดอยู่ที่ท่าเรือเมืองร็อตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และสินค้าจะต้องถูกทำลายทั้งหมดเพราะเน่าเสียแล้ว

ทั้งนี้ แอลเลนย้ำว่าทางการต้องปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อให้มาตรฐานตรงกันและไม่เกิดสถานการณ์แบบนี้ หรือไม่ก็ต้องจำกัดชนิดของเนื้อสัตว์ที่สามารถส่งออกได้ แต่ก็จะเป็นการจำกัดโอกาสใน
อุตสาหกรรมส่งออกลงไป ขณะที่ผู้ประกอบการอียูก็เริ่มมองหาการนำเข้าสินค้าประเทศอื่นอย่างโรมาเนีย และนิวซีแลนด์ แทนแล้ว

“มาร์ก โมร์” ผู้จัดการบริษัทค้าส่งสินค้าประมง “ดาร์เมาท์ แครป” ระบุว่า กระบวนการตรวจสอบสินค้าชายแดนที่ซับซ้อนใช้เวลานานมาก ทำให้การส่งออกสินค้าล่าช้าไปถึง 8 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ทุกครั้ง จะทำให้อุตสาหกรรมส่งออกสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการความสดใหม่ และสินค้าอาจไม่สดใหม่พอที่จะผ่านชายแดน หรือไม่สดพอที่จะนำไปขายให้ผู้บริโภคได้


อย่างไรก็ตาม “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า เตรียมการจัดกองทุน 23 ล้านปอนด์ ชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจากการขนส่งสินค้าล่าช้า แต่ยังยืนยันว่าเมื่อ
ทุกฝ่ายปรับตัวได้แล้ว ธุรกิจจะได้รับประโยชน์มากกว่าช่วงที่ประเทศยังอยู่ในอียู