อเมริกันแอร์ไลน์ ขายไวน์บนเครื่องบิน ส่งตรงถึงบ้านลูกค้า

ภาพโดย Dirk Wohlrabe จาก Pixabay

สายการบิน “อเมริกันแอร์ไลน์” ปรับตัวหลังอุตสาหกรรมการบินซบเซา นำไวน์ที่เคยเสิร์ฟบนเครื่องบิน ขายตรงส่งถึงบ้านลูกค้า 

วันที่ 21 มกราคม 2564 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า สายการบินต่าง ๆ ยังคงติดข้อจำกัดเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เหลือบริการเที่ยวบินไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังถูกสั่งห้ามเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องโดยสาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหลือเป็นจำนวนมาก

สายการบิน “อเมริกันแอร์ไลน์” จึงผุดไอเดียจำหน่ายและจัดส่งไวน์ส่วนเกิน ยิงตรงถึงมือลูกค้า

บริษัทเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า โปรแกรมใหม่ที่เรียกว่า “อเมริกันแอร์ไลน์ แฟลกชิป เซลลาร์” จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ซื้อไวน์ทั้งในแบบที่สามารถกำหนดการซื้อแต่ละครั้งได้เอง หรือจะสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนก็ได้ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 99 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2,969 บาท)

ปกติแล้วไวน์ที่เสิร์ฟบนเครื่องบินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ มีราคาตั้งแต่ขวดละ 13-40 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 389-1,199 บาท) โดยไวน์ที่ราคาแพงที่สุด มีราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8,997 บาท) ซึ่งขายเป็นแพค ในแพคประกอบด้วยแชมเปญ 3 ขวด

การสมัครสมาชิกรายเดือนในราคาเกือบ 3 พันบาท ลูกค้าจะได้ส่วนลดในการซื้อไวน์ รวมถึงการจัดส่งไวน์ 3 ขวด นอกจากนี้ ลูกค้ายังจะได้รับไมล์สะสมในทุก ๆ ดอลลาร์ที่ซื้อไวน์

สำหรับไวน์ที่นำมาจำหน่ายนั้น เป็นไวน์ที่ถูกเสิร์ฟให้กับลูกค้าสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ที่ซื้อตั๋วเครื่องบินประเภท “แฟลกชิป” ซึ่งเป็นตั๋วสำหรับที่นั่งระดับหรูในเที่ยวบินระหว่างประเทศและข้ามทวีป

การแพร่ระบาดของโควิดได้สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการบิน ส่งผลให้เครื่องบินจำนวนมากต้องจอดนิ่งสนิท ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศลดลง

อเมริกันแอร์ไลน์เป็นหนึ่งในสายการบินที่ต้องระงับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเที่ยวบิน และลดระยะเวลาที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารในช่วงที่โควิดระบาด

จากรายงานผลประกอบการล่าสุดชี้ว่า สายการบินดังกล่าวขาดทุนสุทธิ 3,600 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่การหาช่องทางจำหน่ายไวน์ครั้งนี้ คาดว่าจะไม่ทำให้ขาดทุนไปมากกว่านี้

“อลิสัน เทย์เลอร์” หัวหน้าฝ่ายบริการลูกค้า เผยว่า บริษัทหวังว่าโปรแกรมส่งไวน์ถึงบ้านลูกค้าจะสร้างยอดขายประมาณ 40,000-50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.1-1.4 ล้านบาท) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดึงเงินสดจากลูกค้าภาคพื้นดิน ไม่ได้มองที่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว

“แม้รายได้จะมีความสำคัญ แต่โปรแกรมแฟลกชิป เซลลาร์ ก็เป็นอีกเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เดินทางกับเราก็ตาม” บริษัทเผย

“วิธีนี้จะทำให้พวกเขาได้ลิ้มรสไวน์ขวดเดียวกับที่ลูกค้าบนเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสหรือไม่ก็ชั้นบิสสิเนสได้ดื่มระหว่างเที่ยวบิน”