“ฟินเทค” ชีวิตสะดวกขึ้น ระวัง ต้นทุน “ความเสี่ยง”

“ฟินเทค” หรือเทคโนโลยีด้านการเงิน กำลังเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค นำมาซึ่งความสั่นสะเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกได้เห็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทั้งจากอเมริกา เอเชีย หรือยุโรป พยายามปรับตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะไม่มีโอกาสปรับตัว

ดร.แอนโทนี่ สกริฟฟิญาโน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลระดับโลก จากบริษัทดันแอนด์แบรดสตรีต สหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และอัลกอริทึ่มขั้นสูง ได้มาร่วมงาน “บิสซิเนส อินฟอร์เมชั่น อินดัสตรี แอสโซซิเอชั่น 2017” (BIIA) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ล่าสุดในอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารเชิงธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเด็นสำคัญคือ “เทคโนโลยีด้านการเงิน” หรือฟินเทค

ดร.แอนโทนี่กล่าวว่า แม้ปัจจุบันฟินเทคจะเป็นคำที่ได้ยินบ่อย แต่คำนี้เป็นคำที่มีความหมายหลายระดับและหลายมิติ หากย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 70 บัตรเครดิตก็ถือว่าเป็นฟินเทคอย่างหนึ่งเหมือนกัน นี่คือข้อบ่งชี้ว่าฟินเทคเป็นคำที่เปลี่ยนนิยามไปตามกาลเวลา ส่วนตัวมองว่า ฟินเทคมีความสำคัญ 3 ระดับ ระดับแรกคือ ฟินเทคช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีทำให้มี “ข้อมูล” เพิ่มมากขึ้น และ “เวลา” เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้คนตัดสินใจในการทำธุรกรรมการเงินได้ดีขึ้น

ระดับที่ 2 คือ การเชื่อมโยงโลกให้แคบลง ผู้คนติดต่อกันได้ไกลขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ได้กลายเป็นความท้าทายในแง่ความปลอดภัย เนื่องจากการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ แต่ละประเทศจะมีมาตรการที่แตกต่างกันในแง่ของความปลอดภัยข้อมูล รวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้เทคโนโลยีฟินเทคจะต้องทำความเข้าใจ

ระดับที่ 3 เฝ้าดูแลความมั่นคงโลกไซเบอร์ คือการตระหนักว่า ฟินเทคอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ก็มีคนอีกกลุ่มที่อาจมองเป็นโอกาสเข้ามา “ขโมย” ข้อมูลส่วนบุคคลมาไปหาประโยชน์ การสร้างความปลอดภัยของข้อมูลจึงสำคัญอย่างยิ่งในการใช้บริการฟินเทค

ดร.แอนโทนี่เสริมว่า ฟินเทคแม้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจการเงิน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานของธุรกิจต่าง ๆได้ทั้งหมด อย่างไรตาม ฟินเทคจะสามารถช่วยกำจัดความเสี่ยงบางประการ และช่วยให้ธุรกิจเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้ง เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างตัวตนให้บริษัท รวมถึงการช่วยให้บริษัทหนึ่งทำธุรกรรมกับบริษัทหนึ่งได้ง่ายขึ้น

เช่นกรณีของอาลีบาบา อเมซอน แม้ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่เทคโนโลยีการเงินก็เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 ยักษ์อีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาลีบาบานั้น ถือว่าประสบความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์ในระบบอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เข้าใจตลาด และการเข้าใจธุรกิจของตนเอง ขณะที่อเมซอนก็มีความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง

“ในอดีตโอกาสมักตกเป็นของคนเก่งระดับหัวกะทิ แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ข้อมูลเข้าถึงง่ายขึ้น การแข่งขันเปลี่ยนรูปแบบไป คนเก่งจึงไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวเหมือนเดิม และบริษัทต่าง ๆ จะมีมุมมองใหม่ในการที่จะมองหาคนที่เหมาะสมกับงานในตำแหน่งนั้น ๆ มากกว่าที่จะเลือกเฉพาะคนเก่ง” ดร.แอนโทนี่กล่าว