เมื่อ ‘กูเกิล’ ถูกบังคับ ‘จ่ายเงิน’ สำนักข่าว

กระแสกดดันให้ยักษ์เสิร์ชเอ็นจิ้น “กูเกิล” ของอัลฟาเบต อิงก์ จ่ายเงินให้สำนักข่าวเจ้าของคอนเทนต์เป็นข้อพิพาทกันมาอย่างยาวนาน ขณะที่ “กูเกิล” อ้างว่า แพลตฟอร์มได้รวบรวมข่าวจากทุกสำนักเพื่อช่วยเพิ่มฐานผู้อ่านให้แต่ละสำนักข่าวมากขึ้น ถึงแม้กูเกิลจะมีรายได้มหาศาลจากการนำคอนเทนต์เหล่านั้นไปไว้บนแพลตฟอร์มก็ตาม ซึ่งทางสำนักข่าวต่าง ๆ และรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศเริ่มต้องการความเปลี่ยนแปลง

แรงกดดันดังกล่าวทำให้เมื่อเดือน ต.ค. 2563 “กูเกิล” ประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “กูเกิล นิวส์ โชว์เคส” (Google News Showcase) พร้อมระบุว่า เตรียมเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สนับสนุนให้แก่ผู้ผลิตเนื้อหาข่าว ซึ่งผู้ใช้งานสามารถอ่านข่าวได้จบในแพลตฟอร์ม โดยไม่ต้องคลิกเพื่ออ่านเนื้อหาที่เว็บไซต์ต้นทาง หมายความว่ากูเกิลจ่ายเงินเพื่อ “ซื้อ” คอนเทนต์ข่าวต่าง ๆ มาไว้บนแพลตฟอร์ม โดยเริ่มเปิดใช้งานที่เยอรมนีและบราซิลเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีสำนักข่าวท้องถิ่นมากถึง 400 แห่งที่ได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้

และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา กูเกิลได้ทำข้อตกลงกับ สมาคมพันธมิตรสำนักข่าวฝรั่งเศส (APIG) รวมทั้งสำนักข่าว “รอยเตอร์ส” ซึ่งกูเกิลจะจ่ายเงินให้กับสำนักข่าวเหล่านี้ เพื่อนำเนื้อหามาไว้บน “กูเกิล นิวส์ โชว์เคส” เช่นกัน

กูเกิลระบุว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับสำนักข่าว และช่วยให้กูเกิลคัดสรรเนื้อข่าวที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสำนักข่าวกับผู้ใช้แพลตฟอร์ม

รอยเตอร์สระบุว่า สาเหตุที่กูเกิลตัดสินใจสร้างบริการนี้ขึ้นมา เป็นผลจากที่รัฐบาลหลายประเทศมองว่ากูเกิลเข้ามา “แย่ง” รายได้โฆษณาของสำนักข่าว และเตรียมออกกฎหมายบังคับให้กูเกิลจ่ายเงินกับสำนักข่าว เนื่องจากกูเกิลได้ส่วนแบ่งรายได้จากการนำข่าวไปไว้บนแพลตฟอร์ม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้เตรียมร่างกฎหมาย บังคับให้แพลตฟอร์มออนไลน์จ่ายเงินสำนักข่าวในการนำข่าวไปไว้บนแพลตฟอร์ม

รวมถึงรัฐบาลประเทศออสเตรเลียที่เตรียมคลอดกฎหมาย “News Media Bargaining Code” เพื่อบังคับให้โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่จ่ายเงินกับสำนักข่าวต่าง ๆ ตามลิงก์ของเนื้อข่าวที่อยู่บนแพลตฟอร์ม หวังช่วยเหลือสำนักข่าวที่รายได้โฆษณาลดลงจากที่ถูกกูเกิลและเฟซบุ๊กแย่งรายได้ตรงนี้ไป

ขณะที่ “กูเกิล” ขู่ว่า หากมีการออกกฎหมายนี้จะปิดบริการในประเทศออสเตรเลีย พร้อมระบุว่า “กูเกิล นิวส์ โชว์เคส” เป็นวิธีที่ยุติธรรมที่สุดกับการแก้ปัญหานี้ เพราะสำนักข่าวต่าง ๆ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและผู้ใช้ยังเข้าถึงข่าวได้ ส่วนเฟซบุ๊กระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้ทำให้เฟซบุ๊กต้องบล็อกเนื้อหาข่าวออกจากแพลตฟอร์มในออสเตรเลียทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม “สกอตต์ มอร์ริซัน” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่า คำขู่ของกูเกิลไม่มีผล ประเทศออสเตรเลียร่างกฎหมายผ่านสภาของประเทศตัวเอง ใครไม่อยากทำตามกฎหมายก็แล้วแต่

“คริส แจนซ์” กรรมการผู้จัดการ สำนักข่าวไนน์ ออสเตรเลีย ยืนยันว่า ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ เนื่องจาก “กูเกิล นิวส์ โชว์เคส” เป็นการทำข้อตกลงกับแต่ละสำนักข่าว ไม่ได้ยุติธรรมสำหรับสำนักข่าวทั้งหมด และกูเกิลเป็นผู้เขียนข้อตกลง ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาลดอำนาจผูกขาดตลาดของกูเกิล

ทั้งนี้ แม้ออสเตรเลียจะไม่ใช่ตลาดหลักของกูเกิล และการปิดบริการก็แทบจะไม่มีผลกระทบกับรายได้ แต่บีบีซีรายงานว่า หากรัฐบาลออสเตรเลียสามารถบังคับใช้กฎหมายคุมยักษ์เทคได้สำเร็จ รัฐบาลประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะภายในอียู อาจสนใจร่างกฎหมายที่คล้ายกัน และทำให้ “กูเกิล นิวส์ โชว์เคส” ไม่ใช่ “ข้ออ้าง” ของกูเกิล ว่าได้จ่ายเงินให้กับสำนักข่าวแล้ว