“แอสตร้าเซนเนก้า” เยอรมัน แนะ ไม่ควรฉีดให้คนอายุเกิน 65 ปี

ไม่แนะนำฉีดแอสตร้าให้คนอายุเกิน 65
(Photo by JOEL SAGET / AFP)

คณะกรรมการวัคซีนของเยอรมนี แนะนำว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ชี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินประสิทธิภาพ 

วันที่ 29 มกราคม 2564 ข่าวสด รายงานอ้างข้อมูลจากบีบีซี ระบุว่า คณะกรรมการวัคซีนของเยอรมนี เผยว่า ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษ ไม่ควรมีอายุเกิน 65 ปี

คณะกรรมวัคซีนของเยอรมนี ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระ อ้างว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป พร้อมแนะนำว่าควรฉีดวัคซีนนี้ให้เฉพาะผู้มีอายุ 18-64 ปี ในแต่ละขั้น

ขณะที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งอนุมัติวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซฟอร์ด เมื่อเกือบเดือนก่อน และได้ฉีดวัคซีนให้ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี แล้ว ดร.แมรี แรมเซย์ หัวหน้าการฉีดวัคซีน สาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า ทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์-บิออนเทค ปลอดภัยและให้การป้องกันโควิด-19 ระดับสูง โดยเฉพาะการป้องกันโรครุนแรง

“มีเคสน้อยมากกลุ่มในผู้สูงอายุในการทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่สังเกตระดับการป้องกันที่แม่นยำในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ข้อมูลการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันทำให้มั่นใจในประสิทธิภาพได้มาก”

ด้านนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ระบุว่า ไม่กังวลกับคำแนะนำของเยอรมนี พร้อมกล่าวว่า “หน่วยงานของเราเองชี้แจงอย่างชัดเจน คิดว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซฟอร์ด ดีและมีประสิทธิภาพมาก ให้การป้องกันระดับสูง หลังจากได้รับการฉีดเพียงครั้งเดียว และหลักฐานที่ให้มาคือคิดว่ามีประสิทธิผลทุกกลุ่มอายุ”

ความเคลื่อนไหวของเยอรมนีเกิดขึ้นขณะที่ สหภาพยุโรป หรือ อียู กำลังมีข้อพิพาทกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ภายหลังที่อียูลงนามในข้อตกลงกับแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อซื้อวัคซีน 300 ล้านโดส และสิทธิซื้ออีก 100 ล้านโดส

บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแจ้งว่า โรงงานผลิตวัคซีนในเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมผลิตวัคซีนล่าช้า จึงไม่สามารถส่งมอบอียูตามสัญญาได้ โดย นายปาสคาล โซริออต ซีอีโอแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า การผลิตวัคซีนปกติแล้วต้องการเวลา 2 เดือน

แต่อียูระบุว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าต้องปฏิบัติตามสัญญาและส่งมอบวัคซีน โดยกันสต๊อกวัคซีนจากอังกฤษ และเรียกร้องให้ดำเนินการจริงจังเพื่อให้หลักประกันการผลิควัคซีน

นอกจากนี้ บริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค ผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สัญชาติอเมริกันและเยอรมนี ลดจำนวนโดสที่ส่งมอบอียูด้วย ภายหลังที่อียูลงนามในข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีน 300 ล้านโดส

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการยายุโรป จะตัดสินใจในวันศุกร์ที่ 29 มกราคมว่า จะอนุมัติวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ใช้ทั่วอียูหรือไม่ โดยอียูหวังว่า ทันทีที่อนุมัติแล้วจะเริ่มส่งมอบทันที โดยวัคซีน 80 ล้านโดส จะมาถึงอียูภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทว่าติดปัญหาการผลิตล่าช้าทำให้ความหวังริบหรี่

รายงานระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อียูจะได้รับวัคซีนลดลง 60% หรือราว 50 ล้านโดส น้อยกว่าที่สัญญาในไตรมาสแรกของปีนี้ และยังเผชิญ

อย่างไรก็ดี ทั้งอียูและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ารับปากว่า จะร่วมกันแก้ปัญหาและเจรจาวิกฤตดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ 27 ม.ค.