โรบินฮู้ด สั่งจำกัดผู้ซื้อหุ้น Gamestop-AMC หลังทำ “วอลล์สตรีท” ขาดทุนพันล้าน

Photo by Olivier DOULIERY / AFP

แอปฯ เทรดหุ้น “โรบินฮู้ด” สั่งจำกัดนักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นบริษัทอย่าง “เกมสตอป” และ “เอเอ็มซี” หลังเข้ามาเล่นดันราคาจนนักลงทุนมืออาชีพและผู้จัดการกองทุนในวอลล์สตรีท ขาดทุนไปหลายพันล้านดอลลาร์

วันที่ 29 มกราคม 2564 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “วแลด เทเนฟ” ซีอีโอแอปพลิเคชั่นเทรดดิ้งไร้ค่าธรรมเนียม “โรบิ้นฮูด” (Robinhood) กล่าวว่าจะจำกัดจำนวนหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อได้ของบริษัท “เกมสตอป” (Gamestop) และ “เอเอ็มซี เอนเทอร์เทนเมนต์ โฮลดิ้งส์ อิงค์” (AMC Entertainment Holdings Inc) และหุ้นของบริษัทอื่นที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว บนตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: New York Stock Exchange) หลังจากนักลงทุนรายย่อยแห่เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเหล่านี้ ผลักราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ วแลดกล่าวว่า จะคอยดูสถานการณ์ของตลาดหุ้น และจะปรับปรุงสิ่งที่จำเป็นต่อไป เพื่อทำตามกฏหมาย ก.ล.ต.ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังไม่ได้มีหน่วยกำกับดูแลหรือตลาดหลักทรัพย์ที่ออกกฏหมายเข้าควบคุม จึงมีผู้ใช้งานแอปโรบินฮู้ดไม่พอใจอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นการปิดกั้นนักลงทุนรายย่อยในการลงทุน เพื่อปกป้องเหล่า “คนรวยในวอลล์สตรีท” อย่างนักลงทุนมืออาชีพและผู้จัดการกองทุนในวอลล์สตรีท ซึ่งยังคงสามารถซื้อหุ้นได้

ก่อนหน้านี้ เกิดปรากฏการณ์ที่นักลงทุนรายย่อย นัดกันผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง “เรดดิท” (Reddit) ในแชทห้องที่ชื่อ “วอลล์สตรีทเบทส์” (WallStreetBets) ลงทุนผลักราคาหุ้นบริษัทอย่าง “เกมสตอป” พุ่งสูงขึ้นถึง 17 เท่าภายใน 2 อาทิตย์ ผ่านแอปพลิเคชั่นเทรดดิ้งอย่างโรบิ้นฮู้ดที่สามารถทำการซื้อ-ขายหุ้นได้ฟรีโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม

ตั้งแต่นักลงทุนรายย่อย เริ่มแห่เข้ามาลงทุน ทำให้นักลงทุนมืออาชีพและผู้จัดการกองทุนในวอลล์สตรีทโดยเฉพาะกองทุน “ซิทาเดล แอลแอลซี” (Citadel LLC) และกองทุน “พอยท์ 72” (Point72) ที่ทำชอรต์เซลลิ่ง
(Short selling) หรือ การยืมหุ้นมาขายเพื่อเก็งกำไรขาลง

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 กองทุนกลับต้องยอมแพ้ เนื่องจากต้องแบกรับผลขาดทุน หลังจากที่ราคาหุ้น “เกมสตอป” ปรับขึ้นสวนทางกับที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งทั้ง 2 กองทุนต้องระดมเงินทุนเพิ่มอีกกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาโปะการขาดทุนที่เกิดจากการชอร์ตเซลลิ่งในหุ้นของบริษัทเหล่านี้