อังกฤษขอเข้าร่วม “CPTPP” หลังออกจากอียู

REUTERS/File Photo

ทางการอังกฤษต้องการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี “ซีพีทีพีพี” เพื่อเพิ่มการทำการค้ากับประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกำลังมีความต้องการสินค้าอังกฤษที่ขยายตัวอย่างมาก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าสหราชอาณาจักร (ยูเค) จะขอเข้าร่วม “ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “ซีพีทีพีพี” (CPTPP) หลังเสียสิทธิทางการค้ากับทางสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564

“ลิซ ทรัส” รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศอังกฤษ ระบุว่าตลาดชนชั้นกลางประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภูมิภาคนี้สนใจสินค้าของทางอังกฤษเป็นอย่างมาก โดยถึงแม้ธุรกิจอังกฤษจะต้องหาโอกาสทางการค้ากับประเทศเหล่านี้เอง แต่ทรัสระบุว่าการเข้าร่วมข้อตกลงจะเป็นการช่วยพัง “กำแพง” อย่างการลดภาษีศุลกากร เพื่อให้ธุรกิจสามารถออกไปทำการค้ากับประเทศเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ ทรัสระบุว่าเมื่ออยู่ภายใต้ข้อตกลง สินค้าส่งออกของอังกฤษอย่างเครื่องดื่มวิสกี้ กับรถยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมการบริการจะได้รับส่วนลดด้านภาษีศุลกากร

ตอนนี้ข้อตกลง “ซีพีทีพีพี” ประกอบไปด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ดารุซสาลาม ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

โดยอังกฤษมีอัตราการส่งออกสินค้า 8.4% กับประเทศภายใต้ความตกลง จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ เมื่อปี 2019

อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้มีข้อตกลงทางการค้ากับหลาย ๆ ประเทศที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยยังอยู่อียู ทำให้จะไม่ได้มีผลกระทบที่ดีขึ้นขนาดนั้น และกำลังเจรจาทางการค้ากับทางออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แยกออกไป

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่า ถ้าเกิด “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ เข้าร่วมข้อตกลง “ซีพีทีพีพี” จะทำให้หลาย ๆ ประเทศสนใจทำการค้ากับอังกฤษมากขึ้น และจะทำให้ทางสหรัฐอเมริกาสามารถทำการค้าได้ โดยไม่ต้องมีข้อตกลงทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศโดยเฉพาะ