เบียร์ญี่ปุ่น ยุติร่วมทุน “เมียนมา” พบเจ้าของเป็นทหารเอี่ยวรัฐประหาร

เบียร์คิริน
REUTERS/Issei Kato/File Photo

“คิริน” บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ในญี่ปุ่น ประกาศเลิกร่วมทุนกับบริษัทในเมียนมา หลังพบเจ้าของเป็นทหารเกี่ยวพันกับรัฐประหาร

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ภายหลังประเทศเมียนมา ถูกยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารของ “มิน อ่อง ลาย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุด มติชนรายงานว่า บริษัท คิริน โอลดิงส์ (Kirin Holdings) บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ตัดความร่วมมือกับ บริษัท เมียนมา อีโคโนมิค โฮลดิ้ง พับบิลค คอมปานี (Myanmar Economic Holdings Public Company) หรือ เอ็มอีเอชแอล บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของเมียนามาทันที หลังพบว่า เจ้าของบริษัทเป็นทหารในกองทัพ ซึ่งเพิ่งประกาศยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

การประกาศตัดความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้น หลังบริษัทคิริน ถูกกดดันอย่างหนัก ให้ประเมินความร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นที่มีคามเชื่อมโยงกับกองทัพลง

“คิริน” ระบุ จากสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากตัดการร่วมทุนกับเมียนมา อีโคโนมิค โฮลดิ้ง พับบิลค คอมปานี ซึ่งมีการให้บริการด้านการจัดการงบสวัสดิการให้กับกองทัพ โดยพร้อมจะดำเนินการตัดสัมพันธ์โดยเร็วที่สุด

รายงานระบุว่า “คิริน” ได้ครอบครองหุ้นใหญ่กับบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของเมียนมาในปี 2015 ส่วนหนึ่งของการลงทุนมูลค่ามหาศาลที่หลั่งไหลจากต่างประเทศหลังจากเมียนมา ได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรทางการค้า หลังจากออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

อย่างไรก็ตาม องค์การนิรโทษกรรมสากล ได้เคยเรียกร้องให้ “คิริน” และอีกหลายบริษัท ยุติความร่วมมือกับบริษัทเอ็มอีเอชแอล ตั้งแต่ก่อนจะเกิดการรัฐประหารขึ้นแล้ว หลังจากนั้น คิริน ได้ว่าจ้างบริษัทบุคคลที่ 3 เข้ามาสืบสวนการทำธุรกิจของเอ็มอีเอชแอล และระบุในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีการระงับการจ่ายเงินร่วมทุนกับเอ็มอีเอชแอล

ทั้งนี้เมียนมา มีส่วนแบ่งตลาดยอดขายของคิริน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ก็เป็นตลาดที่กำลังมีการเติบโตมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ยอดขายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องผลจากการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ