‘อเมซอน-อาลีบาบา’ จุดเปลี่ยน ‘ผู้นำ’ ครั้งใหญ่

ช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยักษ์เทคโลกทยอยประกาศผลประกอบการ รวมถึงยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่าง “อเมซอน.คอม” สหรัฐอเมริกา และ “อาลีบาบากรุ๊ป” จากแดนมังกร

โดยที่ “อเมซอน” ประกาศรายได้ไตรมาส 4/2020 สูงถึง 1.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 44% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ยอดขายทั้งปีอยู่ที่ 3.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อนหน้า จนทำให้ปีที่แล้วอเมซอนมีการจ้างงานเพิ่มถึง 175,000 คน ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 1.3 ล้านคน

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า “อเมซอน” ทำยอดขายได้สูงเป็นประวัติการณ์จากช่วงเทศกาลวันหยุดที่ผ่านมา และช่วง “ไพรมเดย์” ที่ให้ส่วนลดกับสมาชิกทุกคน และนอกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ทำรายได้ดีแล้ว ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งและโฆษณาก็เป็นตัวทำรายได้สำคัญปีที่แล้ว 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 7.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% และ 64% ตามลำดับ

ส่วน “อาลีบาบากรุ๊ป” ไตรมาส 4/ 2020 มีรายได้ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 37% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้นช่วงโควิด-19 รวมถึงธุรกิจ “คลาวด์คอมพิวติ้ง” ที่ทำรายได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 50% และเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งของอาลีบาบาทำกำไร

อย่างไรก็ตามยักษ์อีคอมเมิร์ซทั้งสองกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในแง่ของตัว “ผู้นำ” ซึ่งถือเป็น “สัญลักษณ์” ของทั้งสองบริษัท

โดยล่าสุด “เจฟฟ์ เบโซส” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “อเมซอน” ประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2021 ถึงแผนลงจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยส่งไม้ต่อให้กับ “แอนดี้ แจซซี่” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง “อเมซอน เว็บ เซอร์วิส” จะขึ้นรับตำแหน่งเป็นซีอีโอแทน

เบโซสกล่าวว่า การนั่งเป็นซีอีโออเมซอนถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ และใช้พลังงานเยอะมาก ทำให้ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย ทั้งนี้เบโซสจะมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการบริหารแทน โดยระบุว่า เพื่อจะได้มีแรงและเวลาสำหรับการทำกิจการอื่น ๆ เช่น กองทุนเดย์วันฟันด์, เดอะ เบโซส เอิร์ทฟันด์, บริษัทยานอวกาศบลู ออริจิ้น, สำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ และ “ความสนใจ” อื่น ๆ

“ไบรอัน โอลซาฟสกี” ซีเอฟโอของอเมซอนระบุว่า บริษัทได้วางแผนอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านซีอีโอ ขณะที่เบโซสเองในฐานะประธานบอร์ดบริหารยังคงมีบทบาทในการตัดสินใจที่สำคัญของบริษัท อย่างเช่นการซื้อกิจการ การวางแผนกลยุทธ์ การปรับเปลี่ยนตีตลาด เป็นต้น

ขณะที่อีกฟากชะตากรรมของ “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้ง “อาลีบาบากรุ๊ป” ยังคงไม่แน่ชัด นับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว หลังจาก “แอนต์ กรุ๊ป” ฟินเทคในเครืออาลีบาบาถูก “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนสั่งระงับการขายหุ้นไอพีโอกะทันหัน โดยมีรายงานข่าวว่า การระงับไอพีโอเป็นผลจากที่ธุรกิจของอาลีบาบาขยายอิทธิพลมากขึ้น รวมทั้งตัวหม่าที่ออกมาโจมตี “แบงก์ชาติจีน” ว่าเป็นตัวฉุดรั้งนวัตกรรมทางการเงิน และต่อมา “อาลีบาบา” ก็โดนรัฐบาลจีนสอบสวนข้อหาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซดำเนินการ “ผูกขาด” บีบบังคับคู่ค้ารายย่อยต้องขายสินค้าบนอาลีบาบาเท่านั้น

จากนั้นหม่าก็ไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนกว่า 3 เดือน กระทั่งมีกระแสข่าวการหายตัวไปอย่างปริศนา หลังรัฐบาลจีนออกมาสกัดการขยายอิทธิพลของ “อาลีบาบา” กระทั่งเมื่อ 20 ม.ค. 2021 หม่าก็ปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์สั้น ๆ แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของครูในพื้นที่ทุรกันดารของจีน ซึ่งเป็นงานที่หม่าจัดขึ้นประจำทุกปี ขณะที่ยังไม่มีคำตอบถึงอนาคตของ “อาลีบาบา” และ “แอนต์กรุ๊ป” รวมทั้งอนาคตของ “แจ็ก หม่า”

ถึงแม้อาลีบาบาจะทำยอดขายถล่มทลายในปีที่ผ่านมา “แอนดี้ ฮาลี้เวล” นักวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกจากบริษัทที่ปรึกษา “พับลิซิส เซเปียนท์” ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเพื่อควบคุมทั้งอาลีบาบาและแอนต์กรุ๊ป จะมีผลกระทบในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้