อาหารโลก ราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี “ยูเอ็น” เฉลยสาเหตุ

ราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี
ภาพโดย Doris Dorfmeister จาก Pixabay

องค์การสหประชาชาติเผยรายงาน ราคาอาหารโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี จากหลายสาเหตุ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์รัสเซียทูเดย์ รายงานว่า ราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน นำโดย ธัญพืช, น้ำมันพืช, น้ำตาล ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)

เอฟเอโอ เผยว่า ดัชนีราคาอาหารเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากเดือนธันวาคม ซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โดยดัชนีดังกล่าวติดตามจากการเปลี่ยนแปลงรายเดือนในราคาระหว่างประเทศของสินค้าอาหารที่ซื้อขายกันทั่วไป

ดัชนีราคาธัญพืชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วร้อยละ 7.1 ต่อเดือน นำโดยราคาข้าวโพดที่พุ่งขึ้นร้อยละ 11.2 และขณะนี้สูงกว่าเดือนมกราคม 2563 ถึงร้อยละ 42.3 สะท้อนให้เห็นถึงอุปทานทั่วโลกที่ตึงตัวมากขึ้น ท่ามกลางการซื้อจำนวนมากจากจีน รวมถึงการผลิตและสต็อกที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการระงับการจดทะเบียนการส่งออกข้าวโพดในอาร์เจนตินาชั่วคราว

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ข้าวสาลีมีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากความต้องการทั่วโลก และการคาดการณ์ยอดขายที่ลดลงของรัสเซีย เนื่องจากภาษีส่งออกข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในเดือนมีนาคม 2564 ขณะที่ความต้องการข้าวจากผู้ซื้อในเอเชียและแอฟริกายังช่วยหนุนให้ราคาพืชพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย

น้ำมันพืชในเดือนมกราคมจำหน่ายได้มากกว่าเดือนธันวาคมถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งนับว่าพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ การผลิตน้ำมันปาล์มที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากฝนที่ตกลงมามากเกินไป และการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการหยุดงานประท้วงที่ยืดเยื้อในอาร์เจนตินา ซึ่งทำให้การส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองลดลง

ดัชนีราคาน้ำตาลสูงกว่าเดือนธันวาคมร้อยละ 8.1 เนื่องจากอุปสงค์นำเข้าทั่วโลกที่แข็งแกร่ง จากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเพาะปลูกที่ไม่ค่อยจะสู้ดีในสหภาพยุโรป, รัสเซียและประเทศไทย รวมถึงสภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติในอเมริกาใต้

เอฟเอโอ เผยอีกว่า ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมก็พุ่งขึ้นเช่นกัน โดยพุ่งขึ้นร้อยละ 1.6 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการซื้อที่สูงขึ้นจากจีน ในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ขณะที่การส่งออกในนิวซีแลนด์ลดลงตามฤดูกาล

ส่วนดัชนีราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากเดือนธันวาคม นำโดย การนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากบราซิล ท่ามกลางการระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตและการส่งออกจากหลายประเทศในยุโรปถูกจำกัด