จีน-เอเชียตะวันออกนำโด่ง คว้า ‘ส่วนแบ่งค้าโลก’ เพิ่มขึ้น

ชีพจรเศรษฐกิจ
นงนุช สิงหเดชะ

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกเหนือจากมิติของจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกแล้ว ประเด็นหลักที่มักถูกกล่าวถึงและนำมาเชื่อมโยงก็คือ มิติทางเศรษฐกิจ-การค้า โดยแง่มุมที่เกิดการเปรียบเทียบกันมากและบ่อยก็คือ ประเทศในเอเชียที่สามารถควบคุมการระบาดได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าประเทศตะวันตก มีแนวโน้มเศรษฐกิจสดใสกว่าชาติตะวันตก

ล่าสุดข้อมูลอย่างเป็นทางการในภาพรวม รวบรวมโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยืนยันชัดเจนถึงประเด็นนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า “เอเชียตะวันออก” มีส่วนแบ่งการค้าโลกเพิ่มขึ้นในปีที่แล้วมากกว่าชาติอื่น ๆ

อังค์ถัด ระบุว่า การค้าโลกในปีที่แล้วลดลง 9% โดยการค้าสินค้าลดลง 6% การค้าภาคบริการลดลง 16.5% แต่จีนและประเทศเอเชียตะวันออกบางประเทศมีส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะประเทศเอเชียเหล่านี้สามารถฟันฝ่าปัญหาโควิด-19 ได้ดี โดย “จีน” มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามด้วยไต้หวันและเวียดนาม ส่วนสหรัฐอเมริกาซึ่งติดหล่มอยู่ในข้อพิพาทการค้าและเทคโนโลยีกับจีน มีส่วนแบ่งการส่งออกลดลงมากกว่าชาติอื่น ตามด้วยรัสเซียและสหภาพยุโรป

“ความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 บีบให้ซัพพลายเออร์ที่มีขีดความสามารถแข่งขันน้อยที่สุดต้องออกจากตลาดโลกไป ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ซัพพลายเออร์ที่มีความสามารถแข่งขันสูงที่สุดเจริญงอกงามในระหว่างกระบวนการฟื้นตัวจากโควิด-19” อังค์ถัดระบุและว่า จีนนั้นสามารถยึดส่วนแบ่งตลาดในหลายเซ็กเตอร์ได้มากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ขนส่งคมนาคม รถยนต์ แต่เสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างประเทศไทย เวียดนาม และไต้หวันในเซ็กเตอร์ของอุปกรณ์สื่อสารและเครื่องจักรสำนักงาน

การค้าสินค้าจากเอเชียตะวันออกเติบโต 12% ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุมาจากการฟื้นตัวของการค้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง การส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและเวียดนามจึงขยายตัว 8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 6%

ส่วนการส่งออกจากประเทศพัฒนาแล้วยังคงลดลง 1% ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1% ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาพยายามจะแยกตัวออกจากจีนในทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าถึงแม้สหรัฐพยายามจะแยกตัวจากจีนแต่ไม่มีความเป็นไปได้ที่บทบาทของจีนในฐานะห่วงโซ่อุปทานชั้นนำของโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“หลุยส์ คูจิส” หัวหน้าทีมศึกษาเศรษฐกิจเอเชียของออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ระบุว่า ผลงานภาคการผลิตเพื่อส่งออกของจีนนับจากการระบาดของโควิด-19 แข็งแกร่งกว่าคาด และความจริงแล้วแม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ส่งออกจีนจะลดลงเล็กน้อย แต่ส่วนแบ่งในตลาดโลกของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับจากไวรัสระบาด ทั้งที่นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่าจะลดลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับไตรมาสแรกปีนี้อังค์ถัดประเมินว่า การค้าสินค้ามีแนวโน้มจะลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และคาดว่าการค้าภาคบริการจะลดลงต่อไปอีกประมาณ 7% เนื่องจากการระบาดที่ยังดำเนินอยู่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

ในอีกด้านหนึ่งสภาวะแยกจากกันไปคนละทิศ (divergence) ของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาถูกนักวิเคราะห์ประเมินว่าสะท้อนถึงการฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอของเศรษฐกิจกล่าวคือ ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.3% แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 0.3% ซึ่งหมายความว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคต่ำลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังมีการจำกัดการเดินทางในช่วงตรุษจีนเพื่อป้องกันไวรัสทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง