ทรรศนะบิ๊กตลาดทุน ‘บิตคอยน์’ ยุคเทสลา

หลังจาก “เทสลา อิงก์” บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ “อีลอน มัสก์” ประกาศลงทุนสกุลเงินดิจิทัล “บิตคอยน์” มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาบิตคอยน์พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ไปอยู่ที่ 44,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านบาท) ต่อโทเคน พร้อมระบุว่าในอนาคต บริษัทจะเปิดรับบิตคอยน์เพื่อใช้ซื้อรถเทสลา ได้เช่นเดียวกับการจ่ายเงินปกติ

การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ของเทสลาในบิตคอยน์ ได้สร้างกระแสความร้อนแรงในสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) อย่างมาก ทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นถึงอนาคตหลังปรากฏการณ์นี้

บลูมเบิร์กรายงานว่า ตอนนี้ผู้ที่ลงทุนกับเทสลา นอกจากต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทแล้ว ยังต้องเพิ่มความเสี่ยงในการเดิมพันกับ “บิตคอยน์” ด้วย ซึ่งแม้จะเป็นเงินทุนเพียงเสี้ยวเดียว หรือประมาณ 8% ของกระแสเงินสด 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายของเทสลาที่เน้นท้าทายกับความเสี่ยง จากการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง

“พอล ฮิกกี้” นักวิเคราะห์บริษัท บีสโปก อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป ระบุว่า เทสลาไม่ได้มีโมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อหนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มถือบิตคอยน์แทนเงินสด ทั่วโลกต่าง “หันมอง”

ขณะที่ “ไมเคิล โอรูค” ประธานวางกลยุทธ์ฝ่ายตลาด บริษัทโจนส์ เทรดดิ้ง ระบุว่า “อีลอน มัสก์” เป็นแฟนคลับตัวยงของบิตคอยน์มานานแล้ว แต่ในทางธุรกิจบริษัทไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยกับการลงทุนดังกล่าว ตอนนี้นักลงทุนในเทสลาต่างตั้งคำถามว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนไป จะกลายเป็น “วัตถุ” (material) ของบริษัท แทนที่จะเป็นกระแสเงินสดหรือไม่ ซึ่งโอรูคมองว่าสินทรัพย์นี้มีความผันผวนมากเกินไป ไม่สามารถเทียบค่าเป็นเงินได้

แม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญสกุลเงินดิจิทัลต่างสนับสนุนว่า บริษัทระดับโลกจะตามมาลงทุนกับเทสลา แต่ “นิโคลาออส พานิเกิร์ธโซกลู” นักวิเคราะห์กลยุทธ์ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ “เจพี มอร์แกน เชสแอนด์โค” มองว่า สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ยังคงมีความผันผวนมากเกินไป เมื่อลงทุนบิตคอยน์แล้ว ความเสี่ยงของพอร์ตบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นทันที ถึงแม้จะเป็นเสี้ยวเดียวของมูลค่าบริษัทก็ตาม

จากปกติพอร์ตการลงทุนของบริษัทจะประกอบไปด้วย เงินฝากธนาคาร กองทุนรวมตลาดเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งหมายความว่าอัตราความผันผวนรายปีจะอยู่ที่ 1% ของกระแสเงินสดของบริษัท แต่ในสถานการณ์นี้เมื่อเทสลาลงทุนบิตคอยน์ จะทำให้อัตราความผันผวนพอร์ตลงทุนบริษัทเพิ่มถึง 8%

นอกจากนี้ “เจอร์รี่ ไคลน์” ผู้บริหารบริษัทจัดการการลงทุน “เทรเชอรี่ พาร์ตเนอร์ส” กล่าวว่า การนำเงินไปลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย และได้ระบุถึงผลการศึกษาของ “แคมป์เบล ฮาร์วี” ที่ระบุว่า การที่บริษัทเทสลาเข้าซื้อบิตคอยน์ สร้างความเสี่ยงที่สูงมากให้กับเงินลงทุนของบริษัท และไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดสกุลเงินดิจิทัลได้

ไคลน์กล่าวถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเข้าลงทุนในตลาดบิตคอยน์ว่า ไม่เพียงแต่เงินทุนของบริษัทจะเกิดความไม่แน่นอนขึ้นเท่านั้น แต่จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอีกด้วย แม้ที่ผ่านมาตลาดบิตคอยน์จะมีความผันผวนสูง แต่ราคาบิตคอยน์ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น ช่วงต้นปี 2020 ที่บิตคอยน์มูลค่าลดลงอย่างมาก แต่กลับพุ่งกระฉูดอีกครั้งหลังจากโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐและทั่วโลกมีการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม “เคธี่ วูด” นักวิเคราะห์จากบริษัท “อาร์ค อินเวสต์เมนต์” ยังคงเชื่อว่าจะมีบริษัทที่เข้าร่วมลงทุนสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์เพิ่มมากขึ้น และสกุลเงินดิจิทัลจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ เข้ามาแทนเงินในบัญชีงบดุลบริษัท โดยมองว่าหากทุกบริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) นำเงินสด 1% ของบริษัทไปลงทุนกับบิตคอยน์ ราคาสกุลเงินบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นอีก 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคน และวูดยังมองว่า จากที่ก่อนหน้านี้บริษัท “สแควร์” และ “ไมโครสตราทีจีส์” ลงทุนบิตคอยน์ ก็ได้เพิ่มมูลค่าบิตคอยน์อย่างมาก ทำให้เชื่อว่าตลาดบิตคอยน์นี้จะยังดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนเพิ่มอย่างแน่นอน


นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่ากระแสการลงทุนในบิตคอยน์ขณะนี้ จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ขุดบิตคอยน์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็คือการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ตามการคิดค้นของระบบ “บล็อกเชน” (blockchain) เพื่อให้ได้เหรียญบิตคอยน์ที่ล้ำค่านี้มา