ธุรกิจเดินทางทั่วโลกยังมืดมน นานาชาติ ‘คุมเข้ม’ แม้มีวัคซีน

ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกต่างมีความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แต่การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงคนทุกกลุ่มยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนและยอดผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นรายวัน ทำให้หลายประเทศยังคงใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในปีนี้

บีบีซีรายงานว่า “สหราชอาณาจักร” (ยูเค) เป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเข้มงวดอีกครั้ง โดยผู้ที่เดินทางมาจาก 33 ประเทศกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป จะต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ในโรงแรมที่จัดเตรียมไว้ให้ ด้วยค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,750 ปอนด์ หากฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงถึง 10,000 ปอนด์ หรือจำคุกสูงสุด 10 ปี

แม้ว่าขณะนี้หลายประเทศจะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว แต่ผู้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ส่วนผู้ที่มาจากพื้นที่อื่น แม้จะไม่ต้องกักตัวที่โรงแรม แต่ยังคงต้องกักตัวในที่พักอาศัยและตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งภายใน 10 วันด้วย “แมตต์ แฮนค็อค” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยูเคระบุว่า “เราจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเท่าที่ระบบการเดินทางระหว่างประเทศจะปลอดภัย”

ขณะที่ “แคนาดา” ก็ประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเช่นเดียวกันกับยูเค ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าสู่มาตรการกักตัว ทั้งยังมีคำสั่งงดเที่ยวบินระหว่างแคนาดากับเม็กซิโก และกลุ่มประเทศในทะเลแคริบเบียนทั้งหมดจนถึงเดือน เม.ย. 2564 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังรุนแรงในประเทศเหล่านั้น

“พีต บูติเจิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ และคณะรัฐมนตรี กำลังพิจารณาออกคำสั่งให้มีการแสดงเอกสารรับรองผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้โดยสารสายการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่มีมาตรการ “แทรเวลบับเบิล” ระหว่างกัน แต่ทั้งสองประเทศยังคงไม่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางสำหรับประเทศอื่นที่บังคับใช้มาตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสในระลอกแรก และสถานการณ์ในนิวซีแลนด์ล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกในรอบหลายเดือน ส่งผลให้ออสเตรเลียประกาศระงับแทรเวลบับเบิลระหว่างกันตั้งแต่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป

“อเล็กซานเดร เดอ จูนิแอค” ผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกยังคงถูกล็อกดาวน์แทบทุกจุดไม่ต่างจากช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และผู้โดยสารยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่สอดคล้องกันทั่วโลก โดยไออาตาคาดว่า หากยังคงมีข้อจำกัดอย่างเข้มงวดในหลายประเทศเช่นนี้ ความต้องการเดินทางระหว่างประเทศของผู้โดยสารสายการบินในปีนี้อาจอยู่ที่เพียง 38% ของปี 2019

ไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับสายการบิน แต่รวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพีโลก และยังส่งผลกระทบต่อพนักงานในภาคธุรกิจดังกล่าว ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 330 ล้านคน ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากจำนวนกว่าครึ่งถูกปลดหรือถูกพักงานอยู่แล้ว ตามการประมาณการของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก