อาเซียน เลือกข้างมะกัน หลัง “ไบเดน” เป็นประธานาธิบดี

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบัน ISEAS Yusof-Ishak ซึ่งเป็นหน่วยงานถังความคิดของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้เผยแพร่ผลสำรวจภาวะต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งเป็นหลายประเด็น เช่น ปัญหาที่อาเซียนกังวล แนวโน้มของภูมิภาค การสำรวจนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ 18 พ.ย. 2563-10 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ “โจ ไบเดน” ถูกคาดหมายว่าจะชนะ “โดนัลด์ ทรัมป์” ค่อนข้างแน่นอน แต่ก็เป็นช่วงก่อนที่ไบเดนจะทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง การสำรวจนี้สอบถามบุคคลมากกว่า 1,000 คนในอาเซียน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักธุรกิจ นักวิจัยมหาวิทยาลัย องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อ

ผลสำรวจในหัวข้อที่ว่า หากถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐกับจีนจะเลือกใคร พบว่า 61.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า อยากเลือกข้างสหรัฐอเมริกามากกว่าจีน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งเลือกสหรัฐเพียง 53.6% ทั้งนี้ การที่ความนิยมในสหรัฐเพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตจะได้เป็นประธานาธิบดี

ทั้งนี้ ยังพบด้วยว่าจำนวนประเทศอาเซียนที่เลือกสหรัฐมากกว่าจีนในผลสำรวจล่าสุดนี้มี 7 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปีที่แล้วซึ่งมีเพียง 3 ประเทศ โดยที่กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยเปลี่ยนข้าง

ถึงแม้ส่วนใหญ่ของอาเซียนอยากเลือกข้างสหรัฐ แต่เมื่อถามว่าประเทศใดทรงอิทธิพลที่สุดต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยอมรับว่า “จีน” มีอิทธิพลอันดับ 1 มากกว่าสหรัฐ อาเซียนและประเทศอื่น ๆ แบ่งเป็น 76.3% ตอบว่าจีนทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจมากที่สุด และ 49.1% ตอบว่าทรงอิทธิพลด้านการเมืองและยุทธศาสตร์มากที่สุด

อาเซียนมีประชากรรวมกัน 650 ล้านคน และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจขยายตัวเร็วสุดในโลก เป็นภูมิภาคที่อยู่ใกล้กับทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่สำคัญยิ่งเพราะการค้าโลกมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต้องผ่านเส้นทางนี้ ส่งผลให้อาเซียนมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาเซียนต้องติดหล่มอยู่ตรงกลางเมื่อเกิดการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐ

สหรัฐนำตัวเข้าเกี่ยวพันกับอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงมาเป็นเวลาหลายปี แต่หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่รวมเอาอาเซียนเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐมักจะไม่มาร่วมการประชุมที่สำคัญ ๆ ของอาเซียน สะท้อนว่าสหรัฐไม่ให้ความสนใจภูมิภาคนี้ ขณะที่จีนรุกอย่างหนักผ่านหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐาน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดของ ISEAS Yusof-Ishak พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 68.6% มองในทางบวกว่า สหรัฐภายใต้รัฐบาล โจ ไบเดน จะเพิ่มการเกี่ยวพันกับอาเซียน ตรงข้ามกับผลสำรวจปีที่แล้วในยุคทรัมป์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 77% เชื่อว่าสหรัฐจะลดการเกี่ยวพันกับภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ความไว้วางใจในสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 30.3% ปีที่แล้ว เป็น 48.3% ในปีนี้ “เวลาเท่านั้นจะบอกได้ว่าความไว้วางใจสหรัฐที่กลับมาอีกครั้ง จะเป็นความคาดหวังที่ผิดหรือไม่” รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณเนิ่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไบเดนจะโฟกัสอาเซียนมากขึ้น เพราะมีการสร้างความแข็งแกร่งให้กับนโยบายต่างประเทศด้วยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชีย อีกทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐได้โทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ให้คำมั่นว่าจะยืนเคียงข้างอาเซียนเพื่อสู้กับแรงกดดันของจีนในทะเลจีนใต้


สำหรับปัญหาที่อาเซียนกังวลมากที่สุดในผลสำรวจนี้ก็คือ 71.5% ตอบว่าความล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพจนไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่ง่อนแง่น และ 52.4% ระบุว่า กังวลว่าอาเซียนจะไม่สามารถเอาชนะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ 69.1% กังวลปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเกรงว่าอาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่แข่งขันระหว่างมหาอำนาจ และประเทศภูมิภาคนี้ก็จะกลายเป็นตัวแทนการต่อสู้ของมหาอำนาจ