รัฐบาลทั่วโลก ‘เอาจริง’ ออกกฎคุมเข้มยักษ์เทค

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศเริ่มมีมาตรการคุมบริษัทเทคฯ ส่งสัญญาณว่าเริ่มเอาจริงกับการเข้าควบคุม หลังได้ขยายอิทธิพลแบบไม่จำกัด

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า รัฐบาลประเทศออสเตรเลียเตรียมคลอดกฎหมาย เพื่อบังคับให้โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก” และ “กูเกิล” จ่ายเงินกับสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ถูกนำมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยเหลือสำนักข่าวต่าง ๆ ที่รายได้โฆษณาลดลงจากที่ถูกแพลตฟอร์มแย่งรายได้ตรงนี้ไป

โดยหลังจากที่วุฒิสภาออสเตรเลียสนับสนุนกฎหมายนี้ “กูเกิล” พร้อมทำตามกฎหมาย แต่ “เฟซบุ๊ก” ชิงปิดกั้นผู้ใช้บริการในออสเตรเลียไม่ให้สามารถอ่านและแชร์ข่าวทั้งในและต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่โมเดลธุรกิจระหว่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและสำนักข่าว

แต่ถึงแม้เฟซบุ๊กจะงัด “ไม้ตาย” ปิดกั้นผู้ใช้บริการ เพื่อคัดค้านไม่ให้รัฐสภาผ่านกฎหมายนี้ แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าผ่านกฎหมายดังกล่าวภายในอาทิตย์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้รัฐบาลออสเตรเลียยังประกาศว่าจะถอดโฆษณาของภาครัฐมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ออกจากแพลตฟอร์ม ขณะที่รัฐบาลแคนาคาสนใจที่จะออกกฎหมายทำนองนี้เช่นกัน

ขณะที่ศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้ตัดสินให้ “อูเบอร์ เทคโนโลยีส์” ต้องมอบสถานะ “พนักงาน” ตามกฎหมายให้กับคนขับรถของแพลตฟอร์มอูเบอร์ โดยจะมีผลให้พนักงานขับรถจะได้รับทั้งค่าแรงขั้นต่ำ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามกฎหมาย รวมไปถึงช่วงเวลาพักระหว่างทำงานอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ถูกปล่อยให้อยู่ในสถานะซึ่งไร้การคุ้มครองอย่างที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้จะถูกปรับใช้แค่กับกลุ่มพนักงานขับรถทั้ง 25 รายที่เป็นโจทก์ของคดี แต่จะมีการพิจารณาวางมาตรการดังกล่าวกับพนักงานของแพลตฟอร์มทั่วประเทศนอกเหนือจากคนกลุ่มนี้ด้วย

ทั้งนี้ การฟ้องร้องคดีเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2016 โดยพนักงานขับรถอูเบอร์ 2 คน ระบุว่าโดนอูเบอร์หลอกล่อจากสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งเงินเดือนและโบนัสที่ดีเยี่ยม เพื่อให้มาทำงานกับบริษัท อย่างไรก็ตาม เมื่อมาทำงานแล้ว ไม่ได้สวัสดิการตามที่บริษัทระบุไว้ เพราะจำนวนคนขับรถที่เพิ่มขึ้น แย่งรายได้และสวัสดิการไปหมด ซึ่งศาลฎีการะบุว่าคนขับรถกลุ่มนี้ไม่ใช่การรับจ้างฟรีแลนซ์ เพราะการทำงานอย่างค่าโดยสาร และเงื่อนไขสัญญาอูเบอร์มีการควบคุมอย่างมาก จึงต้องได้รับการคุ้มครองในสถานะแรงงาน

และอีกบริษัทที่กำลังโดนสภาคองเกรสสหรัฐเล่นงานคือ “โรบินฮู้ด มาร์เก็ตส์ อิงก์” เจ้าของแอปพลิเคชั่นซื้อขายหุ้น “โรบินฮู้ด” ที่ได้ออกข้อกำหนดจำกัดจำนวนหุ้นที่ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายได้ (ฟรี) หลังเกิดปรากฏการณ์นักลงทุนรายย่อยดันราคาหุ้นของบริษัท “เกมสต็อป” และ “เอเอ็มซี” สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เพื่อสู้กับพวกเฮดจ์ฟันด์

กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ใช้งานโรบินฮู้ดไม่พอใจอย่างมาก ซึ่งในการชี้แจงต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ “แม็กซีน วอเตอร์ส” ประธานคณะกรรมการการเงินของสภาผู้แทนฯ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปิดกั้นนักลงทุนรายย่อย และเอื้อประโยชน์ให้ “วอลล์สตรีต” รวมทั้งยังโดนกล่าวหาว่าแอปพลิเคชั่นเป็นการหลอกนักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์อีกด้วย

นอกจากนี้ สมาชิกสภาหลายคนต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับสินทรัพย์ของบริษัท หลัง “วแลด เทเนฟ” ซีอีโอโรบินฮู้ดระบุว่า ผู้ใช้บริการโรบินฮู้ดทำกำไรจากหุ้นที่ถืออยู่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับสินทรัพย์ เทเนฟไม่ยอมระบุว่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้ การดูแลของโรบินฮู้ดมีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งทางสภาคองเกรสจะให้เทเนฟเข้ามาชี้แจงอีกครั้ง โดยที่จะมี ก.ล.ต.ของสหรัฐเข้าร่วมด้วย

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า “แกรี่ เจนสเลอร์” ที่กำลังจะได้นั่งเป็นประธาน ก.ล.ต. เตรียมวางกฎเกณฑ์การคุมเข้มแอปพลิเคชั่นอย่างโรบินฮู้ด ตั้งแต่คุ้มครองนักลงทุน ไปจนถึงโมเดลธุรกิจ และระบบการเงินของแอปพลิเคชั่นเหล่านี้