ชัยชนะของ “อาเบะ” กับความเร็วของธนูดอกที่ 3

ในเดือนตุลาคม ดูเหมือนประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ทั้งจีน และญี่ปุ่น ต่างมอบความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นั่นคือเสถียรภาพทางการเมือง เพราะประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีก 1 สมัย

ส่วน “ชินโสะ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็นำพาพรรคแอลดีพีชนะเลือกตั้งขาดลอยอีกสมัยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนที่ 3 ซึ่งได้ครองอำนาจยาวนานที่สุด

เสถียรภาพทางการเมืองย่อมมาพร้อมกับความต่อเนื่องทางนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนชอบ เพราะอย่างน้อยก็รับประกันความแน่นอนได้ระดับหนึ่ง ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการเลี้ยวกลับหรือเปลี่ยนทิศแบบฉับพลัน จึงสร้างความหวังให้นักลงทุนว่าญี่ปุ่นจะสามารถเดินหน้าขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน

ปฏิกิริยาของตลาดทุนเป็นเครื่องชี้วัดความหวังของนักลงทุนที่มีต่อรัฐบาลได้เร็วที่สุด โดยดัชนีนิกเคอิทำลายสถิติใหม่ ขยับขึ้นติดต่อกัน 16 วันทำการ (นับถึงวันอังคารที่ 24 ตุลาคม) ยาวนานที่สุดและไปสู่จุดสูงสุดในรอบ 21 ปี ที่ 21,805 จุด โดยอยู่ในแดนเขียวตลอดตั้งแต่ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง เพราะคาดหวังว่านายอาเบะจะชนะเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์คาดว่าช่วงระหว่างนี้ดัชนีนิกเคอิจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 21,500-22,500 จุด แต่ปลายปีนี้จะปรับลงไปอยู่ที่ 21,800 จุด เนื่องจากย่อมมีการขายทำกำไรเกิดขึ้นระหว่างทาง ก่อนจะเดินหน้าขยับขึ้นไปใหม่ที่ระดับ 22,000-23,700 จุด ตลอดปี 2561

ชัยชนะของอาเบะ หมายถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “ธนู 3 ดอก” หรืออาเบะโนมิกส์ จะได้รับการสานต่อสืบเนื่องไป ซึ่งได้แก่ 1.นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก 2.มาตรการกระตุ้นทางการคลัง 3.การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

ประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนตั้งความหวังก็คือ การเห็นความคืบหน้ากว่านี้ในการปฏิรูปภาคธุรกิจหรือบริษัทใหญ่ให้โปร่งใส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในธนูดอกที่ 3 โดยที่ผ่านมาหลายคนเห็นว่าการปฏิรูปเคลื่อนที่ช้า แถมความอื้อฉาวครั้งใหญ่ล่าสุดอย่างกรณีโกเบ สตีล ในช่วงที่อาเบะกำลังหาเสียงพอดี

โกเบ สตีล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น ออกมายอมรับว่าโกงข้อมูลคุณภาพเหล็กมานานร่วม 10 ปี สร้างความตกตะลึงให้กับทั่วโลก เพราะหลงเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์และคุณภาพของแบรนด์ญี่ปุ่นมาตลอด โดยโกเบ สตีล นั้น ส่งผลิตภัณฑ์ป้อนให้กับผู้ผลิตสินค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟหัวกระสุนชินคันเซน เครื่องบินโบอิ้ง รถยนต์ ฯลฯ ส่งผลให้บริษัทหลายร้อยแห่งทั่วโลกได้รับผลกระทบ

โกเบ สตีล เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดความอื้อฉาวและสั่นคลอนความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกรณี “นิสสัน มอเตอร์” ที่โกงผลสอบค่ามลพิษจากเครื่องยนต์ หรือกรณีของทากาตะผู้ผลิตถุงลมนิรภัยที่ไร้มาตรฐานส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 รายทั่วโลก ซึ่งสุดท้ายบริษัทต้องประกาศล้มละลาย หรือมิตซูบิชิ มอเตอร์ เป็นต้น ที่ยอมรับว่าโกงผลทดสอบการประหยัดน้ำมัน

“โทมัส คลาร์ก” ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาลบริษัทแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ระบุว่า วัฒนธรรมอำนาจนิยมและต้องเชื่อฟังยังคงมีอิทธิพลเหนือธรรมาภิบาลในอุตสาหกรรมญี่ปุ่น สภาพเช่นนี้ทำให้พวกผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ส่วนระดับผู้จัดการก็ไม่คุ้นเคยกับการถูกลูกน้องตั้งคำถาม ดังนั้นหนทางเดียวที่จะแก้ไขได้ก็คือ ความรับผิดชอบ การเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยของการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น

“เกอร์ฮาร์ด ฟาซอล” ซีอีโอบริษัทยูโรเทคโนโลยี เจแปน ชี้ว่า แนวทางหนึ่งที่จะลดการทุจริตหรือประพฤติผิดต่อหน้าที่ได้ก็คือ เพิ่มคนนอกและกรรมการต่างชาติเข้าไปในบอร์ดบริษัท เพราะปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นมีกรรมการอิสระน้อยมาก โดยเฉพาะบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบปิดมาเป็นเวลานาน

การปฏิรูปด้านธรรมาภิบาลในบริษัทญี่ปุ่นจึงสำคัญมาก และต้องเดินหน้าต่อหากต้องการเรียกความเชื่อมั่น