กระแสผู้นำ “อายุน้อย” ในประเทศตะวันตก

เซบาสเตียน เคิร์ซ, จาซินตา อาร์เดิร์น

“อายุ” ของผู้นำในหลายประเทศ กำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในเดือนตุลาคมนี้ โลกก็ได้รู้จักกับ 2 ผู้นำหน้าใหม่ที่อายุน้อยลงไปอีก

“เซบาสเตียน เคิร์ซ” ผู้นำคนใหม่ของออสเตรีย วัยเพียง 31 ปี ที่มีแนวคิดค่อนไปทางขวา หรืออนุรักษนิยม เคิร์ซเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในวัย 27 ปี ภายหลังได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชน

เคิร์ซได้รีแบรนด์พรรคประชาชนที่มีอายุกว่า 30 ปี ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “พรรคประชาชนใหม่” และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาชนะคู่แข่งด้วยการเสนอนโยบายสกัดผู้อพยพ โดยประชาชนหันมาเห็นด้วยกับนโยบายของผู้นำเยาว์วัยคนนี้ ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตผู้อพยพทะลักเข้ายุโรปในปี 2015 ส่งผลให้เขาได้รับเลือกเป็นนายกฯในที่สุด

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งใน “นิวซีแลนด์” เกิดพลิกล็อกทำให้ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคแรงงาน “จาซินตา อาร์เดิร์น” เตรียมขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ ด้วยวัย 37 ปี ทั้งจะเป็นนายกฯหญิงคนที่ 3 ของประเทศ

อาร์เดิร์นได้ตำแหน่งผู้นำนิวซีแลนด์ แม้ว่าจะได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 เนื่องมาจากพรรคนิวซีแลนด์เฟิรสต์ ที่ได้รับเลือกเป็นลำดับ 3 ตกลงจับมือกับพรรคแรงงานของเธอ โดยพรรคนิวซีแลนด์เฟิรสต์ ระบุว่าทางพรรคต้องการความเปลี่ยนแปลง และอาร์เดิร์นได้แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

กระแสผู้นำอายุน้อยเริ่มมาสักพักเมื่อประชาชนในประเทศตะวันตกเริ่มมองหาตัวเลือกใหม่ ๆ เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว “แคนาดา” ได้ต้อนรับผู้นำคนใหม่อย่าง “จัสติน ทรูโด” ที่ขึ้นรับตำแหน่งในวัย 43 ปีเท่านั้น เขาเป็นลูกอดีตนายกรัฐมนตรีปิแอร์ ทรูโด จบปริญญาตรีในสาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ เคยเป็นนักเดินทางแบกเป้มาก่อน ในการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน ทรูโดนำพรรคเสรีนิยมชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ไม่ใช่เพียงเพราะหน้าตาหรือบุคลิกที่โดดเด่นที่ทำให้เขาขึ้นมาเป็นผู้นำได้ แต่ทรูโดได้รับความเชื่อถือว่ามีความสามารถรอบด้าน และการหาเสียงด้วยนโยบายที่โดนใจประชาชน อย่างนโยบายขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ทำให้ประชาชนเลือกเขาในที่สุด

ADVERTISMENT

และเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง ทรูโดดำเนินนโยบายสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม ทั้งการเปิดรับผู้อพยพ กระทั่งงัดข้อกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ประกาศก้องว่าจะสร้างกำแพงปิดประเทศกันผู้อพยพ เขายังได้เข้าร่วมขบวนพาเหรดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประกาศว่าตัวเองมีแนวคิดสตรีนิยม นอกจากนี้ นายกฯไฟแรงคนนี้ยังมีมุมน่ารัก ด้วยการพาลูกชายวัย 3 ขวบเข้ามานั่งทำงานด้วยกันที่ทำเนียบรัฐบาล

หลายเสียงบอกว่า การที่ทรูโดอายุน้อยประกอบกับเป็นผู้นำที่หลุดออกจากขนบผู้นำแบบเดิม ๆ ทำให้เขาดูเข้าถึงได้ง่าย นำมาซึ่งการทำให้จัสติน ทรูโด ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำขวัญใจทั่วโลก โดยเฉพาะกับสาว ๆ ทันทีและในเดือนพฤษภาคม 2017

ADVERTISMENT

“เอ็มมานูเอล มาครง” วัย 39 ปี ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับฝรั่งเศส เป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดของประเทศ และเป็นสายกลาง ไม่ได้มาจากพรรคขวาจัดหรือซ้ายจัดเก่าแก่

“เบร็คกี้ แบรนฟอร์ด” ผู้สื่อข่าวการเมืองบีบีซีประจำยุโรป วิเคราะห์ไว้ว่า นอกจากประเด็นที่คู่แข่งมาครงเสียคะแนนจากประเด็นคอร์รัปชั่น อีกประการสำคัญที่ส่งให้คว้าเก้าอี้ผู้นำได้ มาจากไหวพริบของเขา ที่ลงเลือกตั้งโดยก่อตั้งพรรคใหม่ของตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะพรรคสังคมนิยมที่เคยสังกัด เนื่องจากเขามองว่าพรรคกระแสหลักจะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป นอกจากนี้เขายังพยายามหาเสียงจากกลุ่มคนรากหญ้าสร้างความหวังด้วยการนำเสนอโอกาสใหม่ ๆ บนเวทีปราศรัยที่เปิดเพลงพ็อปและตกแต่งด้วยสีสันสดใส

แม้ว่าบรรดาผู้นำอายุน้อยเหล่านี้จะเปรียบเสมือนความหวังใหม่ของประเทศ ที่จะสามารถนำประเทศไปในแนวทางที่ไม่เหมือนเดิมได้ แต่หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งก็ยังมีข้อครหาบางประการเกิดขึ้น

อย่างกรณี “ทรูโด” เป็นหนึ่งในผู้นำที่ได้ชื่อว่าเข้าหาสื่อเป็น และมีกระแสเชิงบวกในเวทีโลก อย่างไรก็ตามในบ้านของตัวเองผู้นำคนนี้ยังถูกกังขาว่าเขายังอ่อนประสบการณ์เกินไป เก่งเพียงแค่การโปรโมตตัวเอง

ส่วนชาวฝรั่งเศสก็เริ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายกระชับความมั่นคงของรัฐบาลมาครง บางความเห็นมองว่าเป็นแนวทางเผด็จการ ขณะที่ฝ่ายค้านโจมตีว่าเขาเริ่ม”เหลิง” ในอำนาจ และมีสำนักข่าวออกมาแฉว่า เขาใช้งบฯแต่งหน้า 3 เดือนกว่าล้านบาท ทำให้คะแนนนิยมของเขาดิ่งฮวบ

นี่จึงเป็นยุคแห่งบททดสอบของผู้นำอายุน้อย กับการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศโลกตะวันตก ที่จะชี้บทสรุปว่าอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขหรือไม่ ?