TOP 4 แชมป์ฉีดวัคซีน เร่งสปีดฟื้นเศรษฐกิจ

หลังการระบาดของโรคโควิด-19 บางประเทศจัดโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเร็ว ขณะเดียวกันแถลงนโยบาย “โรดแมป” ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังฉีดวัคซีนครอบคลุมคนจำนวนมากแล้ว

ข้อมูลจากเว็บไซต์เอาร์เวิลด์อินดาต้า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 รายงานว่า หากเทียบประชากรที่ได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 โดสแล้ว จากสัดส่วนประชากร 100 คน “อิสราเอล” ขึ้นแท่นอันดับ 1 ฉีดวัคซีน 87.06 คน จากประชากร 100 คน รองลงมา คือ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ได้ฉีดวัคซีน 56.19 คน “สหราชอาณาจักร” (ยูเค) ฉีดวัคซีน 27.03 คน และ “สหรัฐอเมริกา” ฉีดวัคซีน 19.19 คน

อัลจาซีร่ารายงานว่า ผู้นำ “อิสราเอล” ได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากทั่วประเทศเผชิญการล็อกดาวน์มาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยอนุญาตให้เปิดสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกับกำหนดมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเพิ่งอนุมัติระบบที่เรียกว่า “ตราเขียว” (green badge) ทำหน้าที่เหมือนเป็นพาสปอร์ตวัคซีน ในรูปแบบของแอปพลิเคชั่น เป็นเอกสารรับรองว่าบุคคลนั้นได้ฉีดวัคซีนครบถ้วน หรือมีภูมิคุ้มกันเพราะติดเชื้อและรักษาหายแล้ว โดยบางสถานที่ได้เริ่มมีการคัดกรองอย่างชัดเจน และอนุญาตให้บุคคลที่มีหลักฐานว่าได้ฉีดวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว สามารถเข้าสถานที่เหล่านี้ได้เท่านั้น

โดยหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละเมืองจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่า สถานที่ใดต้องใช้ “ตราเขียว” เพื่อการเข้าถึง ซึ่งหน่วยงานบางเมืองสั่งกำชับให้ตรวจสอบตราเขียวของแต่ละบุคคลก่อนเข้าห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร งานประชุม และบางกรณีมีการบังคับตรวจสอบตราเขียวของพนักงานออฟฟิศ ครู ฯลฯ โดยต้องมีหลักฐานว่าฉีดวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกันแล้วจึงจะเข้าไปทำงานได้

การดำเนินการของรัฐบาลอิสราเอลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยให้ทุกอย่างกลับมาเปิดดำเนินกิจการอย่างปกติ อย่างไรก็ตาม นโยบายตราเขียวได้ทำให้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างคนที่ฉีด กับไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า รัฐบาลอิสราเอลไม่ได้มองว่าประเด็นนี้เป็นปัญหา ตามคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ว่า “ใครที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ขณะที่ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ไม่ได้รอให้การฉีดวัคซีนต้องมีจำนวนมากพอ เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศต้องดำเนินต่อ แม้โควิดจะยังระบาดทั่วโลก โดยทางการให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถเดินทางไปมหานคร “ดูไบ” และ “อาบูดาบี” ได้ ตั้งแต่เดือน ก.ค.และ ธ.ค.ปีที่แล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมา อัตราการเข้าห้องพักโรงแรมในดูไบ เมื่อเดือน ธ.ค. 2020 อยู่ที่ 71% ลดลงเพียง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2019 และแม้จะมีอัตราผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นช่วงเดือน ม.ค. 2564 แต่อัตราเสียชีวิตที่มีเพียง 0.3% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ทำให้ภายในประเทศมีการสั่งล็อกดาวน์เพียงบางสถานที่ และยังคงเดินหน้ารับนักท่องเที่ยวต่อไป

“อาเมอร์ ชารีฟ” ประธานศูนย์ควบคุมและรักษาโควิด-19 ของดูไบ ระบุว่า การเปิดประเทศคือการแบ่งสมดุลระหว่างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน กับความยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศ โดยทางการวางแผนว่าจะสามารถฉีดวัคซีนครบจำนวนโดสให้กับประชากรครึ่งประเทศช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าสู่งาน “เอ็กซ์โป ดูไบ” ซึ่งจะเริ่มขึ้นเดือนตุลาคมปีนี้ และหวังว่าจะได้รับอานิสงส์จากผู้ที่เดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เวิลด์คัพ ในกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ วันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เผยโรดแมปผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ของอังกฤษ 4 ขั้นตอน และจะปลดล็อกมาตรการทั้งหมดวันที่ 21 มิ.ย.นี้

หลังการแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยวได้ หลังวันที่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป ได้เกิดปรากฏการณ์คนอังกฤษแห่จองตั๋วและที่พักเพื่อท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปอย่างคึกคัก

อย่างไรก็ตาม แผนการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์อาจถูกเลื่อนหรือยกเลิก หากโครงการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามกำหนดการ, วัคซีนไม่ได้ลดอัตราผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล หรือลดผู้เสียชีวิตจากโควิด หรืออัตราผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะหากพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีอัตราการระบาดรุนแรงกว่าเดิม


ส่วน “สหรัฐอเมริกา” นอกจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยังต้องรอให้สภาคองเกรสลงมติอนุมัติแพ็กเกจมาตรการเยียวยา 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนมอบเงินและสวัสดิการช่วยเหลือประชากรภายในประเทศโดยตรงแล้ว การใช้งบประมาณในโครงการแจกจ่ายวัคซีนให้กับชาวอเมริกันก็ยังต้องรอสภาคองเกรสไฟเขียวด้วย