สมรภูมิใหม่ ‘สหรัฐ-จีน’ ดิจิทัลหยวน VS ดิจิทัลดอลลาร์

ขณะที่กระแสความสนใจการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง “บิตคอยน์” ร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

อีกด้านธนาคารกลางทั่วโลกก็เริ่มมีการพัฒนา “เงินดิจิทัล” และเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สหรัฐก็ประกาศชัดเจน โดย “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พูดถึงการศึกษา “ดิจิทัลดอลลาร์” หรือเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) ซึ่งมีนักวิเคราะห์อธิบายว่า สัญญาณดังกล่าวเหมือนการ “เริ่มจุดชนวน” ของรัฐบาลสหรัฐ เริ่มมาสนใจสกุลเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เงินดิจิทัลนี้จะไม่เหมือนกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง “บิตคอยน์” ซึ่งธนาคารกลางไม่มีอำนาจควบคุม เป็นระบบกระจายอำนาจที่ผู้ใช้ทั่วโลกร่วมกันจัดการ แต่สำหรับ “เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง” หรือ CBDC ไม่ใช่การออกเงินสกุลใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของเงินที่ใช้แปลงเป็น “ดิจิทัล” ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลาง

เยลเลนให้สัมภาษณ์ว่า “เริ่มเข้าท่าแล้วที่จะให้ธนาคารกลางเข้าศึกษาสกุลเงินดิจิทัล” พร้อมระบุว่า ขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐที่รัฐบอสตัน กำลังทำงานกับนักวิจัยจากสถาบันเอ็มไอที เพื่อศึกษาถึงคุณสมบัติของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเยลเลนมองว่าตอนนี้ประชาชนกำลังมีปัญหาด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน ชาวอเมริกันหลายคนยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการจ่ายเงินต่าง ๆ ถึงขั้นที่บางคนยังไม่มีบัญชีธนาคาร ซึ่ง “ดิจิทัลดอลลาร์” จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ และนำมาสู่การทำธุรกรรมทางการเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายถูกลง

ขณะที่พาวเวลล์ชี้แจงต่อสภาคองเกรสว่า ดิจิทัลดอลลาร์เป็น “โปรเจ็กต์ที่เฟดได้ให้ความสำคัญอย่างมาก” รวมทั้งระบุว่า มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเพื่อคิดค้นเทคโนโลยี และกำลังอยู่ในขั้นตอนการปรึกษาในวงกว้างกับสาธารณชน และหน่วยงานภาครัฐว่าควรจะมีการใช้งาน “ดิจิทัลดอลลาร์” หรือไม่

พร้อมทั้งกล่าวว่า สหรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นชาติแรกของโลกที่มีสกุลเงินดิจิทัล ต้องการทำออกมาให้ถูกต้องมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดิจิทัลดอลลาร์ของเฟด ถือว่าตามหลัง “ดิจิทัลหยวน” ของธนาคารกลางจีน (PBOC) อย่างมาก ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การพัฒนาเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีนรุดหน้าไปมาก โดยช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนให้ความสนใจกับการพัฒนา “ดิจิทัลหยวน” อย่างมาก และล่าสุดหน่วยงานภายในธนาคารกลางจีนได้ร่วมมือกับ “สวิฟต์” หน่วยงานกำหนดมาตรฐานการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 องค์กรได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท “ไฟแนนซ์ เกตเวย์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส ลิมิเต็ด” จดทะเบียนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยเงินทุนจัดตั้ง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยบริษัทนี้จะทำหน้าที่การพัฒนาระบบการบูรณาการข้อมูล ศึกษาการประมวลผลข้อมูล และเป็นที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า บริษัทนี้ถูกจัดตั้งมาเพื่อที่จะศึกษาพัฒนาดิจิทัลหยวน ให้สามารถรองรับการใช้งานข้ามประเทศได้ และเป็นช่องทางการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน จีนเพิ่งได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศมอริเชียส เกาะนอกชายฝั่งแอฟริกา ซึ่งเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม ระบุว่า นอกจากเรื่องการค้าเสรี จีนจะเข้าไปช่วยแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านฟินเทค และนวัตกรรมทางการเงินกับประเทศ ซึ่งขณะที่จีนกำลังพัฒนาดิจิทัลหยวน มอริเชียสอาจเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์ ได้ทดลองใช้งานสกุลดิจิทัลของธนาคารกลางนี้ด้วย

นอกจากนี้ที่ผ่านมา จีนได้เริ่มมีการทดลองใช้งานดิจิทัลหยวนจริง ๆ กับประชาชนแล้วที่เมืองเสิ่นเจิ้นกับซูโจว และเมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งได้แจกดิจิทัลหยวนเป็นอั่งเปาให้กับประชาชนผู้โชคดี 50,000 คน คนละ 200 หยวน (ประมาณ 930 บาท) มูลค่ารวม 10 ล้านหยวน เพื่อใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน

และล่าสุดเมืองเฉิงตูก็เพิ่งเริ่มการทดลองแจกดิจิทัลหยวนให้กับผู้โชคดี 200,000 คน คนละ 170-240 หยวน (ประมาณ 800-1,125 บาท) ซึ่งโดยรวมมีมูลค่าทั้งสิ้น 40.2 ล้านหยวน (188 ล้านบาท) ให้สามารถไปใช้จ่ายได้ช่วงวันที่ 3-19 มีนาคมนี้ โดยผู้ที่ได้รับดิจิทัลหยวนจะสามารถใช้ซื้อสินค้าตามร้านค้าที่กำหนดได้ รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “เจดี.คอม”

แหล่งข่าวระบุว่า จีนมีแผนจะเปิดตัว “ดิจิทัลหยวน” อย่างเป็นทางการในงาน “โอลิมปิกฤดูหนาว” ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ช่วงปลายปี 2022 โดยมีเป้าหมายที่จะให้นักกีฬา และผู้ร่วมงานทุกคนมีดิจิทัลหยวนสำหรับการใช้จ่ายทุกอย่าง เช่น การซื้อสินค้า จ่ายค่ารถโดยสาร ไปจนถึงค่าที่พัก ถือเป็นการใช้ “ดิจิทัลหยวน” เต็มรูปแบบ แต่ขณะเดียวกันก็มีมุมมองว่าอาจเกิดกระแส “ดิจิทัลบอยคอต” ไม่ยอมใช้ดิจิทัลหยวนของรัฐบาลจีนก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี หากมองเป็นการแข่งขันการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางระหว่าง 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก เรียกว่าขณะนี้จีนนำไปไกลมาก