สมรภูมิใหม่! บริษัทเทคโนโลยีจีน ไป่ตู้-เท็นเซ็นต์-อาลีบาบา แห่ชิงเค้ก”รถอินเทอร์เน็ต”

REUTERS/Aly Song

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตชั้นนำของจีนไม่ว่าจะเป็น ไป่ตู้ อาลีบาบา และเท็นเซ็นต์ พยายามผลักดันแอปพลิเคชั่นของค่ายให้ไปอยู่เป็นแอปฯประจำบนหน้าจอสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้บริษัทชั้นนำเหล่านี้กำลังให้ความสนใจกับการผลักดัน “ระบบไฮเทค” ที่จะเชื่อมต่อกับซอฟท์แวร์และสมาร์ทโฟน เพื่อใช้ในรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งการแข่งขันนี้คาดว่าจะเป็นสมรภูมิใหญ่ของตลาดรถยนต์จีนในอนาคต

โดยขณะนี้บริษัทอย่าง “บันมา” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับอาลีบาบาในการเข้าไปพัฒนาระบบปฏิบัติการในรถอัจฉริยะให้กับ บริษัทค่ายรถรายใหญ่ของจีนอย่าง SAIC ซึ่งจะเข้าไปดูแลงานซอฟท์แวร์ในระบบอัตโนมัติ และระบบปฏิบัติการ ทั้งหมด ตั้งแต่จอทัชสกรีนในรถ ฟังก์ชั่นแผนที่จีพีเอส และฟังก์ชั่นต่างๆที่จะให้รถทำงานควบคู่กับสมาร์ทโฟน

โดย “บันมา” สร้างซอฟท์แวร์ที่ชื่อว่า AliOS มาติดตั้งในรถเอนกประสงค์ Roewe RX5 และเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วในการประกาศว่าเป็น เป็นรถอินเทอร์เน็ต (Internet car) คันแรกของโลก

ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของจีน ระบุว่าจนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดขายของ RX5 พุ่งขึ้นต่อเนื่อง และกลายเป็นรถสปอร์ตเอนกประสงค์ที่ขายดี ในระนาบของรถไลน์เดียวกัน เป็นอันดับ 6 ในจีน ขณะที่มีการะบุว่า ผู้ใช้รถได้ใช้ซอฟท์แวร์ AliOS ในรถราว 3 แสนคน

โดยจากการสำรวจความพึงพอใจ มีการรายงานว่าลูกค้า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ซื้อรถรุ่นดังกล่าวระบุว่า สาเหตุที่เลือกซื้อ RX5 เพราะระบบปฏิบัติการและหน้าจอขนาดใหญ่ที่ติดตั้งในรถ

ทั้งนี้ ปีหน้า “บันมา” มีแผนจะเปิด AliOS ให้กับนักพัฒนาซอฟท์แวร์ และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาพัฒนา ในแบบเดียวกับที่มีการพัฒนากูเกิล แอนดรอยด์ในรถอัจฉริยะและรถไร้คนขับ

นอกจากนี้ทางบันมาเพิ่งจะประกาศความร่วมมือในฐานะบริษัทร่วมทุน จีน-ฝรั่งเศส กับค่ายรถซีตรอง ในการเปิดตัวรถยนต์อินเทอร์เน็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการ AliOS ของจีน ซึ่งการเปิดพันธมิตรรายใหม่นี้เนื่องจากสัญญาเฉพาะกับทางค่าย SAIC กำลังจะหมดลง

ทั้งนี้ อเล็ก ฉี ซีอีโอของบริษัท มองว่าซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขับขี่โดยตรง แต่เป็นเรื่องการเสริมอรรถรสให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อาทิ ระบบบันเทิงและการช้อปปิ้งที่ติดตั้งในรถยนต์จะเป็นอีกส่วนสำคัญในรถยนต์อินเทอร์เน็ตในอนาคต

ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง “เท็นเซ็น” ประกาศว่าจะร่วมทุนกับบริษัทค่ายรถจากกวางโจวในแผนการลงทุนในรถที่คล้ายคลึงกันเพื่อร่วมกันสร้างแบรนด์รถอัจฉริยะเพื่อสร้างเอกลักษณ์และแข่งขันได้

ด้านไป่ตู้ ก็เปิดตัว Baidu CarLife ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งมีการอธิบายว่าเป็นแพลทฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ในการจดจำเสียงพูดและสั่งงานต่างๆในรถ ซึ่งไป่ตู้พัฒนาไปสู่ทิศทางรถไร้คนขับมากกว่า

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก เอชเอสบีซี ฮ่องกง มองสมรภูมินี้ว่า เป็นช่วงเวลาของการช่วงชิงพื้นที่ ซึ่งบริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนกำลังวางแผนถึงการสร้างแพลทฟอร์มเทคโนโลยีของตัวเองไปไว้ในยานยนต์

ถือเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันของธุรกิจใหม่ที่ต้องจับตา เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในแบบ “การเชื่อมต่อ” กับอินเทอร์เน็ตทุกรูปแบบ และพร้อมจะให้ความสนใจกับแบรนด์สินค้าใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันยังน่าสนใจว่า การที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนพากันหันมาให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีในรถยนต์จะส่งผลต่อตลาดรถยนต์จากยุโรปและอเมริกาในการทำตลาดด้วยเช่นกัน