เตือนฤทธิ์กระตุ้น ศก.สหรัฐ จีนเจอหางเลข “เงินเฟ้อนำเข้า”

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งใช้วงเงินมหาศาลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยรอบแรกเมื่อปีที่แล้วอนุมัติไป 2 ล้านล้านดอลลาร์ในยุครัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” ล่าสุดปีนี้ในยุครัฐบาล โจ ไบเดน อนุมัติอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ แม้จะสร้างความหวังอย่างมากว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความกังวลว่ามันอาจจะไปเร่งให้เงินเฟ้อขยับขึ้นเร็วเกินไป

ไม่เพียงก่อความกังวลเรื่อง “เงินเฟ้อ” ในสหรัฐเท่านั้น แต่ในจีนก็เกรงว่าวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมาของสหรัฐจะสร้างแรงกดดัน “เงินเฟ้อ” ไปยังจีนด้วย โดย “โหลว จี่เว่ย” อดีตรัฐมนตรีคลังจีน และปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า การที่สหรัฐออกพันธบัตรจำนวนมากและธนาคารกลางก็เพิ่มงบดุลอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มผลกระทบต่อนโยบายระดับมหภาคของสหรัฐ และผลกระทบด้านนโยบายจากประเทศขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในที่สุดก็จะไปกระแทกประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน “เรากำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 100 ปี”

“จ่าง เฉิง” ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อของบลูสโตน แอสเซต แมเนจเมนต์ ระบุว่า การที่สหรัฐและยุโรปใช้นโยบายการเงินที่ไม่ธรรมดาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์และอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และสร้างแรงกดดันให้กับเงินเฟ้อจีน ซึ่งเรียกว่า “เงินเฟ้อนำเข้า”

ดังนั้นจีนควรปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงนี้ด้วยการหลีกเลี่ยงการถือครองสินทรัพย์ที่มีดอลลาร์สหรัฐครอบงำ จากปัจจุบันที่จีนถือครองพันธบัตรสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น อีกทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ

เสิน เจียงกวง และ จ่าง หมิงหมิง นักเศรษฐศาสตร์ของเจดี ดิจิตส์ เตือนว่าเมื่อใดก็ตามที่จีนเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว จำเป็นต้องพิจารณาความเสี่ยงภายนอก เช่น “เงินเฟ้อนำเข้า” และการอ่อนค่าระยะยาวของดอลลาร์สหรัฐที่เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ หากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจะกระทบต่อความมั่นคงของทุนสำรองระหว่างประเทศจีน ดังนั้นความพยายามให้มีการใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้นในเวทีระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญ

สำหรับเงินเฟ้อระยะสั้นในจีนนั้น ทั้งสองคนกำลังจับตาการพุ่งขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่สุดของโลก โดยเดือนที่แล้วราคาทองแดงทะยานขึ้นสูงที่สุดนับจากปี 2011 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนผลิตของจีนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคน เช่น หม่า หยาน แห่งบริษัทโบรกเกอร์นานหัว ฟิวเจอร์ เห็นว่าผลกระทบจาก “เงินเฟ้อนำเข้า” จะไม่มากขนาดนั้น แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ “จีนจะควบคุมฟองสบู่บ้าน” ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อและความเสี่ยงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่างไร

“มาร์ก แซนดี้” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มูดีส์ อนาไลติกส์ เตือนว่า นักลงทุนในวอลล์สตรีตประเมินความร้ายแรงของการกลับมาของเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ แรงกดดันเงินเฟ้อจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะตลาดแรงงานจะร้อนแรงขึ้นในปีนี้ สะท้อนการบูมของเศรษฐกิจ เราเห็นการระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายลง มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่กำลังมา และผู้บริโภคจำนวนมากอั้นความต้องการไว้ เงินออมมีมาก และพวกเขากำลังจะปลดปล่อยออกมา เศรษฐกิจจะเติบโตแข็งแกร่งมาก เกิดการจ้างงานตามมา การว่างงานลดลง


“ดังนั้น นักลงทุนจะต้องทำตัวให้คุ้นชินกับตลาดที่จะสะวิงอย่างบ้าคลั่ง แม้แต่หุ้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ไม่ใช่ที่หลบภัยสำหรับนักลงทุน ความคึกคักจะเกิดในวงกว้าง เป็นพลังของเศรษฐกิจมหภาคที่กำลังจะกระทบต่อทุกส่วนของตลาดเท่ากันหมด”