“เฟด” ปรับจีดีพีพรวด 6.5% พาวเวลล์ประกาศ “ไม่กลัวเงินเฟ้อ”

เจอโรม พาวเวลล์
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์บางส่วนให้น้ำหนักว่ามีความสำคัญยิ่งครั้งหนึ่ง เพราะเก็งกันว่าเฟดอาจมีปฏิกิริยาบางอย่าง หลังจากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจแข็งแกร่งจนทำให้ตลาดเกิดความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และสะท้อนความกังวลออกมาทางผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ปรับสูง

อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าว “เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง” โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ใกล้ 0% เช่นเดิม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยตลอดปี 2023 อีกทั้งจะไม่เปลี่ยนแปลงแผนการซื้อพันธบัตร โดยยืนยันจะซื้อเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์เป็นอย่างต่ำตามเดิม โดยให้เหตุผลว่าเงินเฟ้อจะยังคงต่ำกว่า 2% หรือต่ำกว่าเป้าหมายของเฟด แม้ว่าตัวเลขชี้วัดกิจกรรมเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานจะสูงขึ้นก็ตาม

พร้อมกันนี้ เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดประเมินว่า ปีนี้จีดีพีจะขยายตัว 6.5% สูงกว่าคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม ที่เชื่อว่าจะเติบโตเพียง 4.2% ส่วนปี 2022 และปี 2023 จีดีพีจะขยายตัว 3.3% และ 2.2% ตามลำดับ ส่วนระยะยาวจะเติบโตเฉลี่ย 2.3%

ขณะที่อัตราการว่างงานตลอดปีนี้จะลดลงเหลือ 4.5% ดีกว่าคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งอยู่ที่ 5% ส่วนปี 2022 และปี 2023 จะอยู่ที่ 4.2% และ 3.7% ตามลำดับ และระยะยาวอัตราว่างงานจะอยู่ที่เฉลี่ย 4%

ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์ โดยตลอดปีนี้จะอยู่ที่ 2.2% ส่วนปีหน้าจะลดลงไปเหลือ 2% ปี 2023 จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 2.1% ส่วนระยะยาวเฉลี่ย 2%

ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุว่า แม้คาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย สำหรับปีนี้แม้เงินเฟ้อจะเกิน 2 เปอร์เซ็นต์ไปบ้าง แต่ก็จะแค่ชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ หลายคนมองว่า ครั้งนี้ประธานเฟดทำได้ดีในแง่ที่สามารถทำให้ตลาดสงบ หายปั่นป่วน หลังจากแถลงผลประชุม “เกร็ก ฟาราเนลโล” แห่งบริษัทหลักทรัพย์อเมริเว็ต ระบุว่า ประธานเฟดสามารถจัดสมดุลระหว่างสองสิ่งได้ดี ในการแถลงข่าว ตลาดตอบสนองราวกับว่าเอามุมมองของพาวเวลล์เป็นศูนย์กลาง กล่าวคือผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีลดลง

“เขาเป็นปรมาจารย์ เพราะเขาสามารถที่จะพูดว่า เราอยากให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จีดีพีสูงขึ้น เราต้องการหมดทุกอย่าง และเราก็ต้องการให้ดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน”

“จิม แครอน” หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์มหภาค ของมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ ระบุว่า นี่เป็นการแถลงข่าวดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นจากพาวเวลล์ ตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้น เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น (reflation trade) ยังคงอยู่ในสภาพดี ประธานเฟดหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ตลาดเกิดปฏิกิริยาในเชิงลบรุนแรง

ไมเคิล อาโรน หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน สเตต สตรีต โกลบอล แอดไวเซอร์ กล่าวว่า สารของเฟดเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ว่า เงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา ทำให้ดัชนีแนสแดคพลิกจากลบเป็นบวก “สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ พาวเวลล์พูดว่า เฟดไม่กลัวเงินเฟ้อ เขาบอกว่าเงินเฟ้อปีนี้มันเป็นเรื่องชั่วประเดี๋ยว หลังจากนี้มันจะลดลง คำพูดของเขาทำให้ตลาดฟื้นขึ้นมาได้”

พอล แมคคัลลีย์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์พิมโก ระบุว่า เราได้เนื้อหาสาระมากจากกลยุทธ์กรอบการทำงานใหม่ของเฟด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เฟดจัดสมดุลได้อย่างสมบูรณ์แบบ เฟดปรับเพิ่มจีดีพี แต่ในเวลาเดียวกันก็บอกว่าจะไม่ลงมือทำอะไรในลักษณะป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า

ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ขยับไปอยู่ระดับสูงสุด 1.68% ในวันที่ 17 มีนาคม ก่อนเฟดแถลงข่าว เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และวงเงินกระตุ้นรอบใหม่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ จะทำให้เงินเฟ้อร้อนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังเฟดแถลงข่าวได้ปรับลงมาที่ 1.64% ส่วนตลาดหุ้นสามารถเคลื่อนไหวในแดนบวก ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 33,015 จุด เพิ่มขึ้น 0.6% และเป็นครั้งแรกที่ปิดเหนือ 33,000 จุด ส่วนแนสแดคสามารถฟื้นจากติดลบ กลับมาปิดเพิ่มขึ้น 0.4%

ทั้งนี้ ก่อนที่เฟดจะประชุมเสร็จสิ้น นักลงทุนคาดว่าการแถลงข่าวของเฟดรอบนี้จะทำให้ตลาดผันผวนมากที่สุดในรอบหลายเดือน แต่สุดท้ายตลาดก็อยู่ในความสงบ