‘โฟล์ค’ ท้าดวล ‘เทสลา’ ชิงบัลลังก์ผู้นำ ‘รถอีวี’

แม้ว่า “เทสลา” จะเข้ามา “ดิสรัปต์” อุตสาหกรรมรถยนต์และขึ้นแท่นผู้นำตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ “อีวี” ของโลก แต่นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินยูบีเอสระบุว่า บริษัทผลิตรถยนต์เยอรมัน ใหญ่ที่สุดในยุโรป “โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป” มีแนวโน้มทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้เทียบเท่าหรือมากกว่า “เทสลา” ได้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โดยโฟล์คสวาเกน ประกาศเป้าหมายจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคัน ให้ได้ภายในปี 2022 และ 2 ล้านคันในปี 2025 แต่นักวิเคราะห์มองว่าโฟล์คสวาเกนจะทำยอดขายรถอีวีได้มากถึง 2.5 ล้านคัน ในปี 2025 ซึ่งจะมากกว่าเทสลาถึง 300,000 คัน

ขณะที่คาดว่า “โตโยต้า” ทำยอดขายรถอีวีได้ 1.5 ล้านคัน (ไม่รวมไฮบริด) “ฮุนได” และ “นิสสัน” จะทำได้ 1 ล้านคัน ส่วน “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” จะทำยอดขายได้ 8 แสนคัน

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การโค่นตำแหน่งเทสลา จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ “โฟล์คสวาเกน” ในการขึ้นเป็นมหาอำนาจรถยนต์ไฟฟ้า หลังจากเหตุการณ์คดีอื้อฉาว “โกงค่าไอเสีย” เมื่อปี 2015 ได้ทำร้ายภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างมาก

“เฮอร์เบอร์ต ดิเอส” ซีอีโอโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ยอมรับว่า เทสลาไม่ได้ขายแค่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ขายซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย และเทสลานำโด่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยานพาหนะไร้คนขับ แต่โฟล์คสวาเกนไม่กลัว พร้อมตีตลาดรถอีวีไปสู้กับเทสลา

โดยโฟล์คสวาเกนประกาศแผนลงทุน 3.5 หมื่นล้านยูโร สร้างโรงงานผลิตรถอีวี 8 แห่ง พร้อมจ้างผู้เชี่ยวชาญไอที 6,500 คน ภายในปี 2025 สำหรับการออกรถอีวีถึง 70 รุ่น จะครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่รถเก๋ง เอสยูวี ไปจนถึงซีดาน ภายในปี 2030

สำหรับแบรนด์ในเครือโฟล์คสวาเกน ยังมีอาวดี้, ปอร์เช่, เบนท์ลีย์, ลัมโบร์กินี, บูกัตติ, สแกนเนีย, ซีอัท, สโกด้า, ดูคาติ เป็นต้น ซึ่งจากยอดขายรถยนต์ในกลุ่มโฟล์คปีที่ผ่านมา 9.3 ล้านคัน มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 231,600 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 214% แต่ยังไม่ถึงครึ่งของยอดขายเทสลาซึ่งอยู่ที่ 499,550 คัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่โฟล์คสวาเกนได้เปรียบกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น คือโรงงานผลิตโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทที่ชื่อว่า “เอ็มอีบี แพลตฟอร์ม” ซึ่งตอนนี้เป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “โฟล์คสวาเกน ID.3” ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตรถยนต์จำนวนมากด้วยต้นทุนที่ถูกลง

ยูบีเอสคาดการณ์ว่าต้นทุนการผลิตรถยนต์รุ่น ID.3 ตอนนี้อยู่ที่ 4,000 ยูโรต่อคัน ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตรถยนต์ที่ลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างโฟล์ค กอล์ฟ ซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังงานเชื้อเพลิง แต่ถ้าหากลดต้นทุนชุดแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุดได้ ก็จะสามารถลดต้นทุนได้

นอกจากนี้ซีอีโอโฟล์คกรุ๊ปเปิดเผยว่า บริษัทเตรียมลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ หรือที่เรียกว่า “จิกะแฟกตอรี่” จำนวน 6 แห่งในยุโรปก่อนสิ้นปี 2030 ด้วยเป้าหมายการลดต้นทุนแบตเตอรี่ลง 50% ซึ่งจะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงได้มาก และทำให้ราคาดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น

แต่ต้องยอมรับว่า เทสลามีฟีเจอร์ให้กับรถจากซอฟต์แวร์ที่นำหน้าโฟล์คสวาเกนมาก อย่างการอัพเดตซอฟต์แวร์ของรถยนต์เทสลาแบบไวร์เลส

และยังมีแผนจะผุดฟีเจอร์อื่นอย่างซอฟต์แวร์ยานพาหนะไร้คนขับ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้เปลี่ยนวิถีของผู้บริโภค ไม่เหมือนกับแบรนด์รถยนต์ “ดั้งเดิม” อย่างโฟล์คสวาเกน

“แดน อิเวส” นักวิเคราะห์ เวดบุช ซีเคียวริตี้ ระบุว่า สำหรับโฟล์คสวาเกนและเทสลา ใครจะครองตลาดรถอีวีได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถนำข้อดีของคู่แข่งมาปรับใช้ได้หรือไม่ “โฟล์คสวาเกน” ต้องพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ให้ได้เทียบเท่าเทสลา ขณะที่ “เทสลา” ต้องมีกำลังผลิตรถอีวีได้หลายล้านคันเหมือนกับโฟล์คสวาเกน เร่งผลิตให้ทันความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากเทสลาและโฟล์คสวาเกน ค่ายรถทั่วโลกต่างปรับโมเดลธุรกิจปักธงรถอีวีเต็มสูบ เช่นที่ “วอลโว่” ประกาศเป้าหมายว่ารถยนต์ในเครือทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2030 “ฟอร์ด” วางแผนว่าภายในปี 2030 ตลาดยุโรปจะวางจำหน่ายเฉพาะรถอีวี และ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” ที่วางแผนจะเปลี่ยนเป็นรถอีวีทั้งหมดภายในปี 2035