บ.ชิปไต้หวันเนื้อหอมนานาชาติชิงตัว

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิป” เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์ไฮเทค นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญท่ามกลางโลกเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงความต้องการชิปที่สูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมดังกล่าวยิ่งทวีความร้อนแรง หลายประเทศต่างแย่งชิงบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายในประเทศ

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังดึงบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง” (TSMC) เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทีเอสเอ็มซีได้ประกาศแผนการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาชิป 3 ดีไอซี ใกล้กรุงโตเกียว ด้วยเม็ดเงินลงทุน 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปีนี้

ญี่ปุ่นประสบปัญหาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศชะลอตัว หลังจากที่บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ญี่ปุ่น อย่าง “เรเนซัส อิเล็กทรอนิกส์” ผันตัวไปเป็นผู้ออกแบบชิปมากกว่าผู้ผลิต และความถดถอยของธุรกิจชิปในบริษัทญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเอ็นอีซี โตชิบา และฮิตาชิ ก็ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และจำเป็นต้องดึงบริษัทที่มีศักยภาพจากภายนอกเข้ามาในประเทศ

“ฮิโรชิ คาจิยามะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ระบุว่า “เราต้องการสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ในญี่ปุ่นอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ทีเอสเอ็มซีเป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปี 2020 ผลกำไรสุทธิถึง 517,890 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพิ่มขึ้นราว 50% จากปี 2019 แต่การลงทุนครั้งนี้เป็นเพียงการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ซึ่งไม่เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่คาดหวังให้เข้ามาสร้างโรงงานภายในประเทศ เนื่องจากทีเอสเอ็มซีได้ตัดสินใจลงทุนถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานในสหรัฐเมื่อเดือน พ.ค. 2020 จากความพยายามของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการดึงดูดทีเอสเอ็มซีเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ และไม่เพียงสหรัฐเท่านั้น ญี่ปุ่นยังกำลังต้องเผชิญหน้ากับสหภาพยุโรปที่กำลังให้ความสนใจจะดึงบริษัทผู้ผลิตชิปไต้หวันเข้ามาลงทุนการผลิตด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน รายงานจากเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางการไต้หวันได้เข้าตรวจสอบสำนักงานของบริษัท “ไวส์คอร์เทคโนโลยี” และ “ไอซีลิงก์” ที่ตั้งอยู่ในไต้หวัน โดยบริษัททั้งสองแห่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเชื่อมโยงกับบริษัทเทคโนโลยีในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งผิดกฎหมายไต้หวันที่ไม่อนุญาตให้บริษัทที่ได้รับเงินทุนจากจีนเข้ามาประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีในไต้หวัน

นอกจากนี้ บริษัททั้งสองแห่งยังซื้อตัววิศวกรที่มีความสามารถของไต้หวันหลายร้อยคนเข้าไปทำงานให้กับบริษัท รวมถึงการส่งไปทำงานที่จีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการเสนอเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่า

ผู้อำนวยการฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว ระบุว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ส่งให้สหรัฐและชาติพันธมิตรออกข้อจำกัดด้านธุรกิจต่าง ๆ ต่อจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์

ส่งผลให้จีนใช้วิธีการดึงดูดผู้มีความสามารถเช่นนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของจีนที่จะเพิ่มศักยภาพและการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดผู้ผลิตชิปทั่วโลก