สัมพันธ์ ‘ยุโรป-จีน’ ตึงเครียด กระทบข้อตกลงการลงทุน

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากรัฐบาลสหรัฐยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความแตกร้าวห่างเหินจากยุโรปทั้งในด้านการค้าและความมั่นคง เป็นผลให้ยุโรปหันไปใกล้ชิดกับจีนเพื่อขยายการค้า อย่างไรก็ตาม ในยุคของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ มีนโยบายนำสหรัฐกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพันธมิตรยุโรปเช่นเดิม บนหลักการที่ว่าการจับมือพันธมิตรเก่าแก่กดดันจีนจะได้ผลกว่า

ซึ่งขณะนี้นโยบายดังกล่าวก็เริ่มเห็นผลแล้ว เมื่อสหรัฐพร้อมด้วยสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งอังกฤษและแคนาดา ประกาศแซงก์ชั่นเจ้าหน้าที่จีนหลายคน รวมทั้งบางหน่วยงานของจีน เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรเป็นครั้งแรกหลังจากไบเดนรับตำแหน่ง

การแซงก์ชั่นครั้งนี้ สหรัฐและพันธมิตรอ้างว่าเป็นเพราะจีนได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ด้วยการบังคับใช้แรงงานและกักขังไว้ในแคมป์ โดยยืนยันว่ามีหลักฐานมากมาย ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่ายดาวเทียม ที่แสดงให้เห็นว่ามีการละเมิดชาวอุยกูร์อย่างเป็นระบบ ทางด้านจีนได้ตอบโต้โดยฉับพลันเช่นกันด้วยการเรียก นิโคลัส ชัปปุยส์ ทูตอียูประจำจีนไปประท้วง พร้อมทั้งระบุว่า การแซงก์ชั่นจีนเรื่องชาวอุยกูร์อยู่บนพื้นฐานของการโกหกและได้รับข้อมูลผิด และเตือนยุโรปว่าอย่าทำให้ความสัมพันธ์กับจีนเลวร้ายลงไป

พร้อมกันนี้จีนประกาศขึ้นบัญชีดำนักการเมืองอียูจำนวนหนึ่ง รวมทั้งบางองค์กรของอียู เพื่อตอบโต้และยืนยันว่าการแซงก์ชั่นจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีน ทำให้สมาชิกรัฐสภายุโรปหลายคนออกมาเตือนจีนว่าจะไม่ให้สัตยาบันข้อตกลงการลงทุนระหว่างอียู-จีน ที่ตกลงกันในหลักการไปแล้ว โดย แคทลีน ฟอน เบรมป์ สมาชิกรัฐสภาจากกลุ่มสังคมนิยมและประชาธิปไตยหรือเอสแอนด์ดี

ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของรัฐสภายุโรป ขู่ว่าจีนจะต้องยกเลิกการแซงก์ชั่นสมาชิกรัฐสภาเสียก่อน จึงจะยอมเจรจาการลงทุนกับรัฐบาลจีนในขั้นต่อไป

รัฐสภายุโรปเตรียมจะออกเสียงรับรองข้อตกลงการลงทุนกับจีนในต้นปีหน้า หลังจากใช้เวลาเจรจานานถึง 7 ปี จนสามารถตกลงกันในหลักการไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หากมีการให้สัตยาบัน ก็จะทำให้นักลงทุนยุโรปสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับข้อตกลงการลงทุนระหว่างอียูและจีนดังกล่าว เป็นข้อตกลงแบบครอบคลุม โดยที่จีนสัญญาจะเปิดตลาดให้กับนักลงทุนยุโรปมากกว่าที่เคยเป็นมา รวมทั้งเปิดตลาดใหม่ ๆ ด้วย และเป็นครั้งแรกที่จีนยินยอมให้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการรับปากเกี่ยวกับการใช้แรงงานว่าจะปฏิบัติตามหลักพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ข้อตกลงนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลมากขึ้นระหว่างจีนกับอียู

ทั้งนี้จีนรับปากจะเปิดตลาดสำคัญให้ยุโรปโดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนอียูในจีน โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งหมดของอียู ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ วัตถุดิบพื้นฐาน 22 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้จีนยังจะอนุญาตให้อียูลงทุนในภาคบริการหลายอย่าง เช่น บริการทางการเงิน บริการสุขภาพเอกชน บริการสิ่งแวดล้อม ขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ บริการขนส่งทางอากาศ

ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ที่กลับมาเป็นปกติดังเดิมระหว่างอียูกับสหรัฐ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐด้วยวงเงินมากถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้สหภาพยุโรปได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดย ฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ระบุว่า

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ จะเป็นเครื่องจักรสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก จะช่วยเพิ่มจีดีพีโลกและเพิ่มการส่งออกของอียู เพราะจีดีพีของอียูส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาส่งออกได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 โดยรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกลดลงไปถึง 11.4%

ก่อนหน้านี้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นรอบใหม่ของสหรัฐ จะทำให้จีดีพีโลกปีนี้เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์