“เวิลด์แบงก์”หั่นจีดีพีไทยโต 3.4% เผยโควิดทำ “คนไทยยากจน”เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

“เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปี64 เหลือขยายตัว 3.4%  ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เผยโควิดทำให้มีคนไทยยากจนเพิ่ม 1 ล้านคน ครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่อัตราความยากจนไม่ลดลง

วันที่ 26 มีนาคม 2564 ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวในงานแถลงข่าว “รายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” โดยธนาคารโลก ฉบับล่าสุดภายใต้หัวข้อเรื่อง “การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน” เมษายน 2564 ว่า เวิลด์แบงก์ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศไทยปี2564 ขยายตัว 3.4% จากเดิมคาดการณ์ขยายตัว 4%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะกลับมาฟื้นฟูไปถึงระดับก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดได้ในปี 2565 เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามปกติ

โดยปกติจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยถึง 40 ล้านคนต่อปี และมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 13-15% ของจีดีพีประเทศ แต่ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 4-5 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเดินทางผ่านการใช้มาตรการต่าง ๆ อย่าง “Special Tourist Visa” (STV) เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เวิลด์แบงก์ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังไทยที่ผ่านมาว่า ค่อนข้างมีประสิทธิผล โดยรัฐบาลใช้งบประมาณสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 6% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากกว่าหลาย ๆ ประเทศ

และมาตรการนี้ได้ครอบคลุมความช่วยเหลือทางการเงินในวงกว้าง และในความเร็วที่เหมาะสม

สำหรับโครงการซอฟต์โลน แม้จะเหมาะสำหรับการประคับประคองเศรษฐกิจ แต่การเบิกจ่ายเงินกู้น้อย ทำให้ภาคธุรกิจอาจขาดสภาพคล่อง และนำไปต่อยอดกับโครงการต่าง ๆ ได้ยาก

“แม้จะถึงจุดที่โรคโควิด-19 ไม่ระบาดแล้ว อาจไม่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มคนหรืออุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน โดยตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 มีคนไทยยากจนเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราความยากจนไม่ลดลงในรอบ 20 ปี”

ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มคนยากจน และธุรกิจขนาดเล็ก อย่างเอสเอ็มอี เนื่องจากเข้าถึงบริการทางสังคมได้ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบมาก เพราะมีผู้หญิงที่เป็นแรงงานอยู่ในภาคการบริการจำนวนมาก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ทางการสามารถเพิ่มอัตราเก็บภาษีอย่าง ภาษีที่ดิน และภาษีมรดก เนื่องจากรายได้ภาษีต่อจีดีพียังคงอยู่ที่ 17% ซึ่งยังไม่สูงมาก

โดยสามารถนำเงินไปออกมาตรการเพิ่ม และเข้าสนับสนุนสวัสดิการกลุ่มประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่าง แรงงานที่ตกงาน, กลุ่มผู้สูงอายุ


ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ควรลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวหลังจากฟื้นฟูต่อไปได้