จีนรุกสานสัมพันธ์ “ปากีสถาน” เพิ่มบทบาท-คานอำนาจโลก

AFP PHOTO / AMELIE HERENSTEIN

การผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับทั่วโลก ถือเป็นการเพิ่มบทบาทในเวทีโลกที่ชาติมหาอำนาจมักหยิบมาใช้ในการคานอำนาจ เช่นเดียวกับ “จีน” ที่บรรลุข้อตกลงระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน หรือ CPEC เมื่อปี 2015 และล่าสุดมีโปรเจ็กต์ยักษ์พัฒนาท่าเรือน้ำลึก “กวาดาร์” ให้กลายเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้

วีโอเอรายงานว่า รัฐบาลจีนได้ให้เงินทุนและความช่วยเหลือด้านการก่อสร้างแก่รัฐบาลปากีสถาน เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึก “กวาดาร์” ให้กลายเป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีความสำคัญด้านการขนส่งและจัดเก็บสินค้าแห่งหนึ่งของโลก

ท่าเรือแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่ในทะเลอาระเบียน หรือที่เรียกกันว่า “ทะเลอาหรับ” ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญของปากีสถาน เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อระหว่างสามดินแดนสำคัญของโลก ได้แก่ ตะวันออกกลาง พื้นที่ที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบ เอเชียกลางแหล่งประชากรจำนวนมากที่สุดของโลก และเอเชียใต้ พื้นที่ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์

รายงานระบุว่า รัฐบาลทั้งสองคาดว่าภายในปีนี้ ท่าเรือกวาดาร์จะสามารถรองรับสินค้ามากกว่า 1 ล้านตัน และจะกลายเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยความสามารถในการรองรับสินค้าได้มากขึ้น 13 ล้านตัน และวางเป้าหมายสูงสุด คือ รองรับสินค้าได้มากถึง 400 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2030

ในการลงนามเมื่อครั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนกรุงอิสลามาบัดของปากีสถาน จีนได้อนุมัติเงินลงทุนจำนวน 46,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อการเชื่อมโยงระหว่างจีนและปากีสถานให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว 19 ใน 39 โครงการ มีทั้งที่เสร็จสิ้นและกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างเครือข่ายถนน ทางรถไฟ และโครงการพัฒนาพลังงาน โดยทั้ง 19 โครงการเริ่มต้นที่เมืองกวาดาร์ จังหวัดบาโลชิสถานของปากีสถาน โดยจะเชื่อมต่อไปยังเขตปกครองพิเศษซินเจียง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ส่วนโครงการที่เหลือคาดว่าจะเป็นการพัฒนาขั้นพื้นฐานในเมืองต่าง ๆ ของปากีสถานต่อไป

นักวิเคราะห์มองว่า หากโครงการดังกล่าวสำเร็จจะช่วยให้จีนเข้าถึงตลาดในเอเชียกลางได้เร็วขึ้น ทั้งยังเป็นทางลัดในการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางโดยการผ่านท่อน้ำมันมาสู่ท่าเรือกวาดาร์ และส่งต่อไปยังซินเจียง ซึ่งโครงการนี้ยังสอดรับกับยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมใหม่”


“ระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มอำนาจต่อรองให้จีนมากขึ้น ยังเป็นการข่มขวัญอินเดียด้วย ซึ่งในอดีตอินเดียและปากีสถานก็เคยเป็นคู่ปรับทำสงครามกันมานาน แม้ทั้งสองต้องการจะฟื้นสัมพันธ์แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น ความร่วมมือของจีนและปากีสถานถือว่าเป็นนัยที่น่าติดตาม และเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ถึงบทบาทของจีนในเวทีโลก”