ทำไมการขาด “ชิป” ราคาแค่ 1 ดอลลาร์ จึงนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ทำไมชิปขาดถึงเกิดวิกฤตโลก
Image by bbAAER from Pixabay

เหตุใดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีจุดเริ่มต้นจากชิ้นส่วนราคาเพียง 1 ดอลลาร์ ที่เรียกว่า display driver

วันที่ 6 เมษายน 2564 เจแปนไทม์ส รายงานว่า ชิปหลายร้อยชนิดประกอบกันเป็นอุตสาหกรรมซิลิคอนระดับโลก ที่โดดเด่นที่สุดคือชิปที่มาจาก ควอลคอมม์ อิงค์ และอินเทล คอร์ป ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จนถึงมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ ชิปเหล่านี้อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนที่หลายคนอาจจะกำลังใช้อยู่

แต่ชิป display driver เป็นสิ่งที่ตรงข้าม มันมีเพียงจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อถ่ายทอดคำสั่งพื้นฐานสำหรับหน้าจอโทรศัพท์, จอภาพ หรือระบบนำทาง

นอกเหนือจากบริษัทเทคโนโลยี ยังมีบริษัทที่ใช้ชิปเพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ display driver มีไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถผลิตชิปให้เพียงพอความต้องการได้ จึงทำให้ชิปขาดแคลนและสินค้ามีต้นทุนสูง เช่น แผงจอแสดงผลคริสตัล ส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการผลิตทีวีและแลปทอป รวมถึงรถยนต์, เครื่องบิน และตู้เย็นระดับไฮเอนด์

“ไม่ใช่ว่าคุณจะทำได้ ถึงคุณจะมีทุกอย่างพร้อม แต่ถ้าคุณไม่มี display driver คุณก็ไม่สามารถผลิตสินค้าของคุณได้” สเตซี ราสกอน ผู้ดูแลอุตสาหกรรมให้กับ แซนฟอร์ด ซี. เบิร์นสไตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ชิปบริหารจัดการพลังงาน (power management chips) ก็กำลังขาดแคลนเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อย่างฟอร์ด มอเตอร์ โค, นิสสัน มอเตอร์ โค และโฟล์คสวาเกน เอจี ต้องลดกำลังการผลิตลง จนมีการประมาณการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

สถานการณ์มีทีท่าจะเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากพายุฤดูหนาวที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตชิปในสหรัฐฯ ประกอบกับเหตุไฟไหม้โรงงานที่สำคัญของญี่ปุ่น จนต้องปิดโรงงานเป็นเวลา 1 เดือน ส่วนซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โค ได้เตือนถึงความไม่สมดุลอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม และไต้หวัน เซมิคอนดัคเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง โค ระบุว่า บริษัทไม่สามารถผลิตชิปได้ทันกับความต้องการ แม้ว่าโรงงานจะมีกำลังผลิตมากกว่า 100% ก็ตาม

“ผมไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่บริษัทของเราก่อตั้ง” จอร์แดน วู ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไฮแมกซ์ เทคโนโลยี โค ผู้จำหน่าย display driver รายใหญ่ กล่าวและว่า ทุกโปรแกรมขาดชิปหมด

วิกฤตขาดแคลนชิปเกิดจากการคำนวณที่ผิดพลาดในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเชื้อโควิด-19 เริ่มแพร่กระจายจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ในโลก บริษัทจำนวนมากคาดว่าผู้คนจะประหยัดเงินเมื่อถึงเวลาที่ยากลำบาก

“ฉันตัดการคาดการณ์ทั้งหมดทิ้ง ตอนนั้นฉันใช้วิกฤตทางการเงินเป็นต้นแบบ” ราสกอน กล่าวและว่า แต่ความต้องการกลับมีความยืดหยุ่นจริง ๆ

ผู้คนที่ติดอยู่ที่บ้านเริ่มซื้อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี และเดินหน้าซื้อต่อไปเรื่อย ๆ พวกเขาซื้อคอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้น และหน้าจอใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานจากระยะไกลได้ พวกเขาซื้อแลปทอปเครื่องใหม่ให้ลูกเอาไว้เรียนทางไกล พวกเขาซื้อโทรทัศน์ 4K, เครื่องเล่นเกม, เครื่องตีฟองนม, หม้อทอดไร้น้ำมัน และเครื่องปั่นแบบแช่ เพื่อเพิ่มรสชาติให้กับชีวิตภายใต้การกักตัว จนการแพร่ระบาดของโรคได้เพิ่มยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ในวัน Black Friday

ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ พวกเขาต้องปิดโรงงานระหว่างการล็อกดาวน์ ไม่มีใครสามารถเข้าไปในโชว์รูมได้ พวกเขาจึงบอกซัพพลายเออร์ให้ยุติการขนส่งส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงชิป ที่มีความจำเป็นสำหรับรถยนต์มากขึ้น

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ความต้องการเริ่มเพิ่มขึ้น ผู้คนต้องการออกไปข้างนอกและพวกเขาไม่ต้องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ผู้ผลิตรถยนต์กลับมาเปิดโรงงานและขอให้ผู้ผลิตชิปอย่าง ทีเอสเอ็มซีและซัมซุงกลับมาเดินเครื่องผลิตชิป ทว่าบริษัทเหล่านี้กลับไม่สามารถผลิตชิปได้เร็วเพียงพอความต้องการของลูกค้า

(Photo by Sam Yeh / AFP)

จอร์แดน วู จากไฮแมกซ์ ซึ่งอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของอุตสาหกรรม เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชายผู้สวมแว่นตาวัย 61 ปีผู้นี้ ได้ไปประชุมที่สำนักงานของเขาในกรุงไทเป เพื่อหารือเรื่องชิปขาดแคลน รวมถึงสาเหตุของการขาดแคลน ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่พวกเขาจะต้องแก้ปัญหา เวลานั้นเขากระตือรือร้นถึงขนาดให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กในเช้าวันเดียวกับที่มีนัดประชุม โดยมีพนักงาน 2 คน เข้าร่วมการสัมภาษณ์ด้วย ส่วนพนักงานอีก 2 คน ต่อสายเข้ามาให้สัมภาษณ์

วูก่อตั้งไฮแมกซ์เมื่อปี 2544 โดยตอนนี้ “บิง-เชง” น้องชายของเขานั่งเก้าอี้ประธานบริษัท พวกเขาเริ่มต้นจากการผลิต ไดรเวอร์ ICs (สำหรับวงจรรวม) หลังจากนั้นบริษัทของพวกเขาจึงเป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรม ทั้งในวงการโน้ตบุ๊คและหน้าจอ ก่อนจะเปิดตัวสู่สาธารณะในปี 2549 และเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะขยายไปสู่วงการสมาร์ทโฟน, แทปเลต และหน้าจอสัมผัส ชิปของพวกเขานั้น ตอนนี้มีใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่โทรศัพท์, โทรทัศน์ ไปจนถึงรถยนต์

วูอธิบายว่า เขาไม่สามารถผลิต display driver ได้มากขึ้น ด้วยการสั่งให้พนักงานทำงานหนักขึ้น ไฮแมกซ์เป็นผู้ออกแบบ display drive และจากนั้นจะส่งไปผลิตที่โรงหล่อ เช่น ทีเอสเอ็มซี หรือ ยูไนเต็ด ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คอร์ป ชิปของเขาทำมาจากสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี mature node ซึ่งมีอุปกรณ์อย่างน้อย 2 รุ่น อยู่เบื้องหลังกระบวนการที่ล้ำสมัย อุปกรณ์เหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในซิลิคอน

ปัญหาคอขวดนี้กำลังทวีความรุนแรง วูกล่าวว่าโรคระบาดทำให้เกิดความต้องการอย่างมาก ขณะที่ผู้ผลิตไม่สามารถผลิต display driver ให้เพียงพอสำหรับแผงควบคุมที่จะใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์, ทีวี และเครื่องเล่นเกม รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่บริษัทต่าง ๆ กำลังใส่หน้าจอลงไป เช่น ตู้เย็น, เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ และระบบความบันเทิงในรถยนต์

โดยเฉพาะความต้องการไดรเวอร์ ICs สำหรับระบบยานยนต์ เนื่องจากพวกเขามักจะใช้แผ่นชิปซิลิคอนขนาด 8 นิ้ว แทนที่จะใช้แผ่นชิปขนาด 12 นิ้ว ซัมโค คอร์ป หนึ่งในผู้ผลิตแผ่นชิปชั้นนำรายงานว่าสามารถผลิตแผ่นชิปขนาด 8 นิ้วได้ประมาณเดือนละ 5,000 แผ่น ในปี 2563 ซึ่งน้อยกว่าที่ผลิตได้ในปี 2560

ไม่มีใครสามารถสร้างสายการผลิต mature node ได้ใหญ่กว่านี้ เนื่องจากมันไม่มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ ส่วนสายการผลิตที่มีอยู่ก็ได้ทำให้ราคาลดลงเต็มที่แล้ว ซึ่งหมายความว่า display driver สามารถผลิตได้ในราคาไม่ถึง 1 ดอลลาร์ ส่วนในเวอร์ชั่นที่สูงกว่านี้ก็ราคาสูงกว่าไม่มากนัก ดังนั้น การจะซื้ออุปกรณ์ใหม่และการพยายามทำให้ราคาลดลงนั้น หมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

“การสร้างกำลังผลิตใหม่นั้นใช้ต้นทุนมากเกินไป” วูกล่าว ส่วนเพื่อนร่วมตลาดอย่าง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คอร์ป ซึ่งตั้งอยู่ในไต้หวันเหมือนกัน ก็เจอกับข้อจำกัดข้อนี้

การขาดแคลนชิปดังกล่าวส่งผลอย่างชัดเจนต่อราคาแอลซีดี โดยแผงแอลซีดีขนาด 50 นิ้ว สำหรับทีวี มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2563 และเดือนมีนาคมปีนี้ แมทธิว แคนเทอร์แมน ผู้สื่อข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าราคาแอลซีดีจะยังคงพุ่งขึ้นอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิป display driver อย่างหนัก

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีกเมื่อขาด “แก้ว” โดยผู้ผลิตแก้วรายใหญ่รายงานการเกิดอุบัติเหตุที่โรงงานหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงที่โรงงานของนิปปอน อิเล็กทริค กลาส โค เมื่อเดือนธันวาคม และเหตุระเบิดที่โรงงานของเอจีซี ไฟน์ เทคโน โคเรีย เมื่อเดือนมกราคม ซึ่งทำให้แนวโน้มการผลิตมีจำกัดไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปีนี้เป็นอย่างน้อย

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ดาตา ดีไวซ์ อิงค์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ขึ้นราคาจอแอลซีดี 26 นิ้ว อีก 5,000 เยน โดยเฉลี่ย ซึ่งถือเป็นการขึ้นราคาครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่พวกเขาเริ่มจำหน่ายจอภาพเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โฆษกของบริษัทกล่าวว่า บริษัทไม่สามารถทำกำไรได้ หากไม่ขึ้นราคา เนื่องจากต้นทุนส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจไฮแมกซ์ ที่มียอดขายพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

แต่ซีอีโอไฮแมกซ์ไม่ได้รู้สึกยินดีกับเรื่องนี้ ธุรกิจทั้งหมดของเขาสร้างขึ้นจากสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นการที่เขาไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งที่ลูกค้าต้องการในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้จึงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิด เขาหวังว่าวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ จะยุติโดยเร็ว

“แต่ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงตำแหน่งที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” วูกล่าว