อุตฯการผลิตสหรัฐบูม สัญญาณ ‘เงินเฟ้อ’ ก่อตัว

สถาบันไอเอสเอ็ม รายงานดัชนีชี้วัดการผลิตของโรงงานในสหรัฐเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 64.7 จุด พุ่งขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ถึง 3.9 จุด และเป็นตัวเลขดัชนีสูงที่สุดในรอบ 37 ปี

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีสูงขึ้นคือ ความต้องการสินค้าจากผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นช่วงโรคโควิดระบาด และเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวอย่างมาก ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับเงินไปคนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ บวกกับโครงการฉีดวัคซีนที่ดำเนินไปอย่างเร็ว ทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมา “คึกคัก”

ประกอบกับเงินออมส่วนเกินซึ่งครัวเรือนสหรัฐเก็บไว้ถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ช่วงที่โควิดระบาดหนัก ทำให้ยังคงมีกำลังจับจ่ายอยู่เรื่อย ๆ

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของสหรัฐปีนี้เพิ่มขึ้น 7% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวสูงสุดนับจากปี 1984 และจะอยู่ในระดับที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัวแซงจีนได้ในรอบ 45 ปี

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดการผลิตของโรงงานในสหรัฐที่พุ่งขึ้น และเศรษฐกิจประเทศทีกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตในหลาย ๆ อุตสาหกรรมเผชิญความท้าทาย “ทิโมที ฟิออร์” ประธานสถาบันไอเอสเอ็ม กล่าวว่า จากการทำแบบสำรวจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงซัพพลายเออร์กำลังเผชิญปัญหาจากที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด

“ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อซัพพลายเชนการผลิตอย่างมาก ได้แก่ วัสดุเบื้องต้น ชิ้นส่วนที่ขาดแคลนทำให้ราคาสูงขึ้น รวมถึงความยากลำบากในการขนส่งสินค้า ทำให้ผู้สั่งซื้อต้องใช้เวลารอสินค้ายาวนานขึ้น” ฟิออร์กล่าว

รัฐบาลไบเดน รู้ดีว่าซัพพลายเชนการผลิตกำลังมีปัญหา โดยออกคำสั่งพิเศษ ให้หน่วยงานรัฐบาลตรวจสอบ และแก้ไขซัพพลายเชนสินค้าที่มีปัญหา อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุและวัสดุที่สำคัญ ส่วนผสมที่ใช้ในสินค้าเภสัชกรรม และแบตเตอรี่ โดยให้หาข้อสรุปภายใน 100 วัน เพื่อแก้ปัญหา และให้สหรัฐมีซัพพลายเชนการผลิตที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดการผลิตของโรงงานในสหรัฐที่อยู่ระดับสูง และเศรษฐกิจประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้ส่งสัญญาณถึง “อัตราเงินเฟ้อ” ที่กำลังก่อตัว

จากประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐ ปีล่าสุดที่ดัชนีชี้วัดการผลิตของโรงงานในสหรัฐสูงขนาดนี้ เกิดขึ้น 1 ปีก่อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศขยายตัวถึง 7.2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8%

ขณะที่ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ อาหาร และน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้น เป็นสัญญาณชัดว่า “อัตราเงินเฟ้อ” กำลังสูงขึ้น และไม่ชั่วคราวตามที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เคยระบุไว้

โดยเฟดปรับคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2021 อยู่ที่ 2.2% และระยะยาวเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2% แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในระยะยาว

โจนาธาน ปีเตอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า จากการอัดฉีดนโยบายการคลัง ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

ส่วน “แอนดรูว์ โฮเลนฮอรสต์” นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของซิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่า แม้จะแก้ปัญหาซัพพลายเชนการผลิตได้ แต่ข้อมูลบ่งชี้ว่า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบตั้งต้นที่สูงขึ้น นำมาสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูง และจะนำไปสู่ราคาสินค้าที่สูงขึ้น และข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า มีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 2% ซึ่งน่าจะทำให้เฟดต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหากมีสัญญาณที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในระยะยาว