จีนกระชับอาหรับ เพิ่มบทบาท ‘เงินหยวน’

การเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐ ส่งผลให้ “จีน” ปรับยุทธศาสตร์หันมาพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจขึ้น หนึ่งในนั้นคือการผลักดันบทบาทของสกุล “เงินหยวน” ระดับโลก ผ่านความสัมพันธ์กับประเทศที่เห็นความเสี่ยงจากการพึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐมากเกิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันที่มองว่า เงินหยวนเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะออกจากความเสี่ยงนี้

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า หลังจากที่จีนเปิดตัวสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าสกุลเงินหยวนหรือ “เปโตรหยวน” ครั้งแรกในปี 2018 เพื่อผลักดันให้สกุลเงินหยวนได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล แข่งกับ “เปโตรดอลลาร์” ของสหรัฐ

โดยจีนใช้ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ “ซาอุดีอาระเบีย” ที่ได้รับผลประโยชน์แบบต่างตอบแทน ฐานะที่จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดจากซาอุดีอาระเบียในขณะนี้ ทำให้จีนมีอำนาจในการกำหนดราคาน้ำมันดิบมากยิ่งขึ้น

“แพทริก อิง” พาร์ตเนอร์ของบริษัทด้านการลงทุนสปาร์คิล แอนด์ โค ระบุว่า จีนสามารถกำหนดปริมาณการจัดสรรความต้องการน้ำมันกับซาอุฯ ได้ แลกเปลี่ยนกับการที่ซาอุฯ ถือครองพันธบัตรรัฐบาลจีนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี ระบบนี้ส่งผลให้ความต้องการเงินหยวนเพิ่มขึ้นในตลาดน้ำมันโลก

พร้อมกันนั้นจีนยังเดินหน้าผลักดันบทบาทของเงินหยวนในด้านอื่น เช่น การบรรลุข้อตกลงกับ “รัสเซีย” ใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศในปี 2019 ส่งผลให้สัดส่วนการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐในการส่งออกสินค้าจากรัสเซียไปจีนลดลงเหลือเพียง 39% จาก 75% ในปี 2018

ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐต่อจีน และอีกหลายประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลและผู้ประกอบการ ในหลายประเทศ ในตะวันออกกลางมองเห็นความเสี่ยงในการพึ่งพิงระบบเงินดอลลาร์สหรัฐ

ประกอบกับความสัมพันธ์ทางการทูตของจีนในการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน เช่น การจัดหาวัคซีนโควิดรวม 38 ล้านโดสให้กับ 17 ประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงการบรรลุข้อตกลงพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ 25 ปีระหว่างจีนกับ “อิหร่าน” ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยจีนมีแผนลงทุนในอิหร่านมหาศาล แม้จะไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่ผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่าอยู่ที่ราว 400,000-600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“กั๋วเซียง จาง” ผู้อำนวยการองค์กรวิจัยด้านเศรษฐกิจ Economist Corporate Network ของเซี่ยงไฮ้มองว่า ท่าทีของ “ซาอุดี อารัมโก” บริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ระบุว่า ความมั่นคงด้านพลังงานของจีนจะมีความสำคัญที่สุดในช่วง 50 ปีข้างหน้า บ่งชี้ว่าเงินหยวนมีแนวโน้มที่จะใช้ในการซื้อขายน้ำมันดิบกับจีนมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่ “สตีเวน ดูลีย์” นักวิเคราะห์จากบริษัท เวสเทิร์น ยูเนี่ยน บิสซิเนส โซลูชั่นส์ ชี้ว่า ขณะนี้ใช้เปโตรหยวนในข้อตกลงทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศผู้ค้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เงินหยวนมีบทบาทในระดับโลกมากขึ้นภายในไม่กี่ 10 ปีหน้า

“หนึ่งปีที่แล้วเรายังไม่รู้เลยว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเกิดขึ้น ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาจรวดเร็วมากจนเราคาดไม่ถึง” ดูลีย์กล่าว