ยุโรปปักธงฐานผลิต “รถอีวี” โลก เร่งปูพรมลงทุน “แบตเตอรี่”

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ในยุโรปพุ่งสูงที่สุดในโลกในปี 2020 หลังจากที่กฎควบคุมมลพิษของสหภาพยุโรป (อียู) เข้มข้นขึ้น แต่อุตสาหกรรมอีวีของยุโรปยังคงต้องพึ่งพาส่วนประกอบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ “แบตเตอรี่” ส่งผลให้ขณะนี้
ยุโรปกำลังเร่งขยายซัพพลายเชนการผลิตภายในภูมิภาคเพื่ออุดช่องโหว่ พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้นำการผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก

บลูมเบิร์กรายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปมีการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาแบตเตอรี่จำนวนมาก เช่น นอร์ทโวลต์ (Northvolt) ของสวีเดน, บริติชโวลต์ (Britishvolt) ของสหราชอาณาจักร (ยูเค), ออโตโมทีฟ 
เซลล์ส (Automotive Cells) ของฝรั่งเศส และโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป

แม้ว่าปี 2020 ยอดขายรถอีวีในยุโรปมากที่สุดในโลกถึง 1.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2019 และแซงหน้าจีนเป็นครั้งแรก แต่ผู้ผลิตยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้าแบตเตอรี่จากภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี (CATL) ของจีน และแอลจี เอเนอร์จี โซลูชั่น ของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ยุโรปได้เพิ่มการลงทุนอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมซัพพลายเชนการผลิตแบตเตอรี่อีวี ตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์และเซลล์จัดเก็บพลังงาน จนถึงการประกอบและการรีไซเคิล โดยหน่วยวิจัย “บลูมเบิร์ก
เอ็นอีเอฟ” คาดว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของยุโรปจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 31% ภายในปี 2030 จากเพียง 7% ในปี 2020

“มาโรส เชฟโชวิช” รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านพลังงาน ระบุว่า “เรากำลังสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของยุโรปและระบบนิเวศใหม่ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมกับทุนที่หลั่งไหลเข้ามา” โดยประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อีวีในยุโรปในปี 2019 สูงถึง 60,000 ล้านยูโร ซึ่งมากกว่าการลงทุนในจีนถึง 3 เท่า

คณะกรรมาธิการยุโรปยังตั้งเป้าให้มีรถยนต์ไร้มลพิษอย่างน้อย 30 ล้านคันภายในปี 2030 ซึ่งได้รับการขานรับจากผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นโฟล์คสวาเกน, ภสเตลแลนติส (Stellantis) และบีเอ็มดับเบิลยู 
(BMW) ที่มีแผนเพิ่มการผลิตอีวีรุ่นใหม่ ขณะที่วอลโว่, จากัวร์ และเบนท์ลีย์ ก็มีแผนผลิตและจำหน่ายเฉพาะรถอีวี เช่นเดียวกับฟอร์ด ที่จะจำหน่ายรถยนต์ส่วนบุคคลในยุโรปเป็นประเภทอีวีเท่านั้นเช่นกัน

แผนธุรกิจของผู้ผลิตอีวีเหล่านี้ยิ่งส่งผลให้ความต้องการแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการรถอีวีของผู้บริโภคก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไป “ฌ็อง-ปีแยร์ กอร์นิโย” อดีตผู้บริหาร “เรโนลต์” ระบุว่า “เวลานี้ทุกประเทศต้องการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ตระหนักดีว่าต้องสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นในการนำเข้าแบตเตอรี่จากผู้ผลิตนอกภูมิภาค”

ปัจจุบันโฟล์คสวาเกนเป็นผู้นำการลงทุนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อีวี โดยมีแผนการลงทุนถึง 18,000 ล้านยูโร สำหรับโรงงาน 6 แห่งในยุโรป รวมถึงการขยายสถานีพลังงานทั่วภูมิภาค ซึ่งหากสำเร็จจะส่งผลให้โฟล์คสวาเกนกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซีเอทีแอล

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของยุโรปยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น “เทสลา” ที่กำลังเข้ามาสร้างโรงงานประกอบอีวี “โมเดล วาย” (Model Y) และผลิตแบตเตอรี่ในเยอรมนี เพื่อขยายธุรกิจในยุโรป เช่นเดียวกับซีเอทีแอลและแอลจี เอเนอร์จี ที่ลงทุนสร้างโรงงานในยุโรปแล้วด้วยเช่นกัน