แกะสุนทรพจน์ ‘เยลเลน’ อเมริกากลับสู่ฮับ ‘โลกาภิวัตน์’

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐคนใหม่ และอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภากิจการโลกแห่งชิคาโก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสุนทรพจน์ที่เกิดขึ้นก่อนการประชุมประจำปีของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ถือเป็นสุนทรพจน์เปิดม่านการประชุมขององค์กรระหว่างประเทศทั้งสององค์กรที่มีความสำคัญไปด้วย ดังนั้น จึงเป็นสุนทรพจน์ระดับโลกที่ต้องเงี่ยหูฟัง โดยเฉพาะในประเด็นของเศรษฐกิจ การค้า

หลังจาก โจ ไบเดน นำพรรคเดโมแครตเข้าบริหารประเทศ ถูกคาดหมายอย่างกว้างขวางหรือรู้กันล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จุดยืนและนโยบายต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ส่วนใหญ่จะตรงข้ามหรือกลับทิศกับนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วคือ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวอย่างสั้น ๆ ก็คือนำสหรัฐกลับสู่ “ความปกติ” อย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะบทบาทในเวทีโลก ซึ่งสุนทรพจน์ของ เจเน็ต เยลเลน ในครั้งนี้ เป็นการ “คอนเฟิร์ม” ว่า สหรัฐกลับสู่เวทีโลกแล้ว

อย่างที่ทราบกันว่าเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบายกีดกันการค้าและไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ ภายใต้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” แต่เยลเลนส่งสัญญาณในที่นี้ว่า โลกาภิวัตน์กลับมาแล้ว และอเมริกาพร้อมจะเป็นศูนย์กลางเพื่อขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ต่อไป “4 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่ออเมริกาถอยห่างจากเวทีโลก คำว่าอเมริกาต้องมาก่อน จะต้องไม่หมายถึงอเมริกาเท่านั้น เพราะโลกทุกวันนี้ไม่มีประเทศใดสามารถมอบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับประชาชนได้เพียงลำพัง”

รัฐมนตรีคลังหญิงของสหรัฐระบุว่า รัฐบาลโจ ไบเดน สัญญาว่า สหรัฐจะกู้คืนความเป็นผู้นำในระบบพหุภาคี เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งขึ้น และสร้างความก้าวหน้าให้กับผลประโยชน์ของอเมริกา ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเข้าร่วมอย่างแข็งแกร่งในตลาดโลก และจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อปกป้องและบังคับใช้ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา ส่วนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีนนั้น ก็จะเป็นเช่นเดียวกับความสัมพันธ์โดยกว้าง ๆ กับจีน กล่าวคือจะแข่งขันในเรื่องที่ควรแข่งขัน จะร่วมมือในเรื่องที่สามารถทำได้ และจะเป็นปฏิปักษ์กันในบางเรื่องหากจำเป็น

แม้เธอจะไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าเรื่องใดที่สหรัฐพร้อมจะเป็นปฏิปักษ์และอยู่ตรงข้ามกับจีน แต่ในประโยคต่อมาก็บอกให้ทราบโดยอ้อม เพราะเธอกล่าวว่าสหรัฐจะปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของคนทั่วโลก ทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา “ประธานาธิบดีไบเดนและข้าพเจ้าจะปกป้องชาวอเมริกันและธุรกิจอเมริกัน รวมทั้งคุณค่าสำคัญต่าง ๆ ที่ให้นิยามความเป็นอเมริกา”

เยลเลนบอกว่า วัตถุประสงค์สำคัญ 3 อย่างของอเมริกาในการเกี่ยวพันด้านเศรษฐกิจกับทั่วโลก ประกอบด้วย 1.การสร้างเศรษฐกิจโลกที่เติบโตและมีเสถียรภาพ เพราะว่าสหรัฐจะรุ่งเรืองได้ก็ต่อเมื่อประเทศเพื่อนบ้านรุ่งเรือง อเมริกาจะได้รับประโยชน์หากประเทศต่าง ๆ สามารถรักษาหรือสร้างสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปิดกว้าง เศรษฐกิจต่างประเทศที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับสหรัฐ หากประเทศกำลังพัฒนาประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ ประชาชนที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นของประเทศเหล่านี้และมาตรฐานชีวิตที่สูงขึ้นหมายถึงฐานผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสำหรับอเมริกา

ประการที่ 2 ต่อสู้กับความยากจนและส่งเสริมเศรษฐกิจโลกในลักษณะที่ครอบคลุมเป็นวงกว้างซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าของความเป็นอเมริกา ในขณะนี้โลกมีความอ่อนไหวต่อการเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างประเทศรวยและจน อันเนื่องมาจากความสามารถในการควบคุมไวรัสโควิด-19 และกอบกู้เศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ประเทศร่ำรวยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่บางประเทศมีเครื่องมือในการสนับสนุนเศรษฐกิจ อีกทั้งมีวัคซีนใช้เอง แต่ก็เร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะ “ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอยากกระตุ้นให้หุ้นส่วนของเราพยายามใช้มาตรการการคลังที่แข็งแกร่งต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและหลีกเลี่ยงการถอนการสนับสนุนเร็วเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่อเศรษฐกิจจะได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและป้องกันไม่ให้โลกเสียสมดุลขึ้นมาอีก”


สำหรับประการที่ 3 นั้น เยลเลนย้ำว่า มีบางเรื่องที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่เหมือน ๆ กัน และจำเป็นต้องร่วมมือกัน อาทิ ปัญหาสุขภาพระดับโลกจากกรณีของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการหาวิธีปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น