ส่อง 6 แบรนด์ ‘รถอีวี’ จีน ‘วู่หลิง’ ท้าชน ‘เทสลา’

(Photo by WANG Zhao / AFP)

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ภายในจีนอย่างรถไฟฟ้า (EV) ประกอบไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ไฟฟ้าเสียบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) เติบโตอย่างมาก

เมื่อปี 2020 ยอดขายรถอีวีที่ประเทศจีนอยู่ที่ 1.3 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วน 41% ของยอดขายรถอีวีทั่วโลก ส่วนช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2021 ยอดขายรถอีวีจีนอยู่ที่ 289,000 คัน เพิ่มขึ้น 320% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

โดยบริษัทวิจัยคานาลีส์คาดการณ์ยอดขายรถอีวีในประเทศจีนปีนี้จะอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 51% ขณะเดียวกันบริษัทจีนก็ได้เข้ามา “ชิงเค้ก” รถพลังงานไฟฟ้า ผุดรถอีวีขึ้นมาหลายแบรนด์ และหลายรุ่น ทั้งจากผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมของจีน รวมถึงหน้าใหม่และ “สตาร์ตอัพ” หลายแห่ง ต่างคิดค้นและพัฒนารถอีวีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า สาเหตุอุตสาหกรรมรถอีวีภายในประเทศจีนขยายตัวมาก เนื่องจากการสนับสนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2009 จีนมุ่งมั่นจะเป็นผู้นำของโลกในการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ และมีโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนตั้งแต่ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงผู้บริโภค อย่างกองทุนสนับสนุนบริษัทรถยนต์ดั้งเดิม และสตาร์ตอัพใหม่ในการผลิตและพัฒนารถอีวี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถประเภทนี้

ขณะเดียวกันรัฐบาลมี “ข้อจำกัด” ผู้ผลิตและเจ้าของรถใช้น้ำมัน อย่างเช่น บางเมืองมีการจำกัดพื้นที่ และเวลารถใช้น้ำมันสามารถแล่นได้, บางเมืองคิดค่าธรรมเนียมป้ายทะเบียนรถยนต์น้ำมันสูงถึง 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงกำหนดโควตาให้บริษัทรถยนต์จีนต้องผลิต “รถอีวี” และจะโดนค่าปรับหากไม่เป็นไปตามกำหนด

เว็บไซต์ออโตเจอร์นัลระบุว่า รถอีวีสัญชาติจีนซึ่งขายดีที่สุดในตลาดทั่วโลกคือ “วู่หลิง ฮองก่วง มินิ อีวี” (Wuling HongGuang Mini EV) รถยนต์แฮตช์แบ็ก 4 ที่นั่งราคา 28,800 หยวน (ประมาณ 140,000 บาท) โดยขายได้มากถึง 119,255 คัน ภายใน 5 เดือนหลังเริ่มวางจำหน่ายเมื่อเดือน ก.ค. 2020

และในเดือน ม.ค. 2021 รถรุ่นดังกล่าวทำยอดขายได้ถึง 25,778 คัน ขึ้นแท่นอันดับ 1 ยอดขายทั่วโลก แซง “เทสลา โมเดล 3” ของ “เทสลา อิงก์” ที่ทำยอดขายได้เพียง 13,843 คัน

“วู่หลิง ฮองก่วง มินิ อีวี” เป็นแบรนด์รถยนต์ของกิจการร่วมค้า “เอสเอไอซี-จีเอ็ม-วู่หลิง ออโตโมบิล” (SGMW) เป็นการร่วมทุนระหว่างค่ายบริษัทรถยนต์ “เอสเอไอซี มอเตอร์” (SAIC Motor) “เจเนอรัล มอเตอร์ส” (GM) และ “ลี่โจว วู่หลิง มอเตอร์ส” (Liuzhou Wuling Motors)

โดยกิจการร่วมค้านี้ยังมีแบรนด์ “เป่าจุน” (Baojun) ทำตลาดรถอีวีภายใต้โมเดล “เป่าจุน อีซีรีส์” ที่สามารถทำยอดขายได้ 47,704 คันในปี 2020 โดยมีทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่ E100, E200, E300 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋ว 2 ที่นั่ง และรุ่น E300+ เป็นเอสยูวี 4 ที่นั่ง ราคาจำหน่ายประมาณ 60,000-70,000 หยวน (260,000-308,000 บาท)

ขณะที่ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ค่ายรถจีนที่หันมาพัฒนารถอีวี ภายใต้แบรนด์ ORA (โอร่า) เมื่อปีที่ผ่านมามียอดขายรวม 56,261 คัน ส่วนใหญ่เป็นรุ่น “แบล็กแคต” มียอดขาย 46,796 คัน ราคาประมาณ 69,800-84,800 หยวน (320,000-390,000 บาท)

แหล่งข่าวระบุว่า จุดเด่นที่ทำให้รถอีวีจีนทั้ง 3 แบรนด์ประสบความสำเร็จคือ ราคาถูกและขนาดเล็กกะทัดรัด ทำให้สะดวกต่อการขับขี่ในเมือง

ด้าน “บีวายดี ออโต” (BYD Auto) อีกยักษ์ผู้ผลิตรถจีนที่ “เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์” ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เข้ามาลงทุน ปีที่ผ่านมาบีวายดีฯสามารถทำยอดขายรถอีวีทุกรุ่นได้ 179,211 คัน โดยรุ่นที่ทำยอดขายได้มากที่สุดคือ ซีดานซีรีส์ “BYD Qin” และซีดานลักเซอรี่ “BYD Han EV”

นอกจากนี้ “สตาร์ตอัพ” เจนใหม่มาแรงที่เข้ามาผลิตรถอีวีโดยเฉพาะอย่าง “นีโอ” (Nio) มีการผลิตรถอีวีสปอร์ตและเอสยูวีถึง 4 รุ่น และปีที่แล้วทำยอดขายได้ถึง 43,728 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 112.6% รวมถึง “เสี่ยวเผิง มอเตอร์ส” (Xpeng Motors) ทำยอดขายรถอีวีซีดานและเอสยูวีทั้ง 2 รุ่นได้ 27,041 คัน เพิ่มขึ้น 112% จากปีก่อนหน้า รวมถึง “ลี ออโต” ที่จำหน่ายรถอีวีรุ่นเดียวคือ “Li Xiang One” เป็นเอสยูวีปลั๊ก-อิน ไฮบริด ทำยอดขายได้ 32,624 คัน

ซีเอ็นบีซีระบุว่า บีวายดีและสตาร์ตอัพเจนใหม่ ได้ดึงดูดผู้บริโภคให้มาใช้งานรถไฟฟ้า จากสไตล์ความสวยงามของรถยนต์ ต่างจากผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมที่เน้นเรื่องสมรรถนะการใช้งานของรถมากกว่า