บริษัทยักษ์สหรัฐหนุน ‘ไบเดน’ ต้านกฎหมาย ‘จำกัดสิทธิเลือกตั้ง’

REUTERS/Mike Segar

กฎหมายจำกัดการเลือกตั้งใหม่ของรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งสภานิติบัญญัติของรัฐเพิ่งอนุมัติและให้การรับรอง ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งต่อไปโดยให้ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนต้องแสดงบัตรประจำตัวที่มีภาพถ่าย และได้ลดจำนวนกล่องหย่อนบัตรเลือกตั้ง รวมถึงจำกัดเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่อนุญาตให้ผู้ใดส่งมอบอาหารและน้ำให้กับประชาชนระหว่างต่อแถวรอเลือกตั้ง

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า สาเหตุที่รัฐจอร์เจียออกกฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ผ่านมา (ปี 2020) ซึ่ง “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต ชนะเลือกตั้งในรัฐนี้ และเป็นผู้ลงสมัครจากพรรคเดโมแครตคนแรกที่ชนะผลโหวตในรัฐจอร์เจีย ในรอบ 28 ปี

หลังประกาศผลเลือกตั้ง “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน รวมถึงสมาชิกพรรคบางส่วน ต่างระบุว่ามีการโกงการเลือกตั้งในรัฐจอร์เจีย ทั้งที่หน่วยงานต่าง ๆ ยืนยันว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่มีการโกงเป็นวงกว้างพอที่จะพลิกผลลัพธ์ได้

สภาของรัฐจอร์เจีย ซึ่งมีสมาชิกพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก จึงพยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมระบุว่า กฎหมายนี้จะควบคุมให้การเลือกตั้งมีความปลอดภัย ป้องกันการฉ้อโกงผลการเลือกตั้ง ขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันในแต่ละรัฐทั่วประเทศ ต่างพยายามผลักดันร่างกฎหมายในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้กับประชาชนในการออกไปเลือกตั้ง และมุ่งโจมตีเฉพาะกลุ่มอย่างชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่อาศัยอยู่ในรัฐจอร์เจีย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประจำตัวที่มีภาพถ่าย

แหล่งข่าวระบุว่า พรรครีพับลิกันออกกฎหมายนี้ เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยในสหรัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของฝ่ายตรงข้าม หรือพรรคเดโมแครตไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ยากขึ้น หลังพรรครีพับลิกันพ่ายแพ้ผลโหวตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสูญเสียเสียงข้างมากในสภาคองเกรส

ขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐหลายรายต่างออกมาแสดงจุดยืนข้าง “ไบเดน” และฝั่งเดโมแครต ด้วยการต่อต้านกฎหมายนี้ อย่างเช่น “โรเบิร์ต แมนเฟรด” ประธานเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ซึ่งเป็นลีกการแข่งขันกีฬาเบสบอลใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ประกาศย้ายสถานที่จัดงาน “2021 เอ็มแอลบี ออล-สตาร์เกม” จากเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย แมนเฟรดกล่าวว่า ทางลีกการแข่งขันสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งของชาวอเมริกันทุกคน และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่กฎหมายดังกล่าวจำกัดสิทธิการเลือกตั้ง

“ฮอลลี่ ควินแลน” ซีอีโอและประธานองค์กรการท่องเที่ยวเขตคอปป์ เมืองแอตแลนตา กล่าวว่า การย้ายสถานที่จัดการแข่งขันอาจทำให้รัฐเสียรายได้ ซึ่งอาจสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.1 พันล้านบาท) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของโรงแรม ร้านอาหาร และบริการรถสาธารณะในละแวกใกล้เคียง

นอกจากนี้ บริษัทเครื่องดื่ม “เดอะ โคคา โคล่า คอมปะนี” สายการบิน “เดลตาแอร์ไลน์ อิงก์” บริษัทรถยนต์ “พอร์เชอ เอจี” บริษัทขนส่ง “ยูพีเอส” สถาบันการเงิน “แบงก์ออฟอเมริกา” “เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค” และ “ซิตี้กรุ๊ป อิงก์” และอีกหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่มีประธานหรือซีอีโอเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ได้ส่งตัวแทนออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมายนี้เช่นเดียวกัน

“เอด บาสเตียน” ซีอีโอ เดลตาแอร์ไลน์ บริษัทจ้างงานรายใหญ่ในรัฐจอร์เจียระบุว่า จะยอมรับกฎหมายใหม่นี้ไม่ได้ เพราะมุ่งโจมตีชาวแอฟริกัน-อเมริกันให้ไปเลือกตั้งยากขึ้น ขณะที่ “อัลเฟรโด้ ริเวอร่า” ประธาน โคคา โคล่า ทวีปอเมริกาเหนือกล่าวว่า จะต่อต้านกฎหมายทุกชนิดที่ทำลายหรือจำกัดการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง และกฎหมายพยายามขัดขวางประชาชนไม่ให้ออกไปเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นบีซีระบุว่า การที่ธุรกิจออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมายดังกล่าว แม้ไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งของรัฐจอร์เจีย หรือช่วยยับยั้งไม่ให้สภาของรัฐอื่น ๆ ออกกฎหมายจำกัดสิทธิการเลือกตั้ง แต่ที่ชัดเจนคือที่หลายบริษัทออกมาแสดงจุดยืนบังเอิญตรงกับความเห็นของไบเดน และพรรคเดโมแครต ที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นการจำกัดสิทธิการเลือกตั้ง