G 20 ดัน “ภาษี” ขั้นต่ำโลก สกัดบริษัทข้ามชาติมุด Tax Haven

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือจี 20 กำลังหารือกันเพื่อผลักดันให้มีการกำหนดอัตรา “ภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ” สำหรับทั่วโลก เพื่อปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศให้มีมาตรฐาน เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียม รวมทั้งป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่มักโยกผลกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ หรือที่เรียกว่า tax haven (แหล่งหลบภาษี) หากสำเร็จก็จะถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการอัพเดตกฎระเบียบด้านภาษีระหว่างประเทศให้ทันต่อสถานการณ์

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันแสดงความเห็นด้วยที่จะให้มีการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ และดูเหมือน “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ จะเป็นโต้โผผลักดันด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าการมีภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำก็เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกจะเจริญเติบโตโดยอยู่บนพื้นฐานที่ทุกประเทศเท่าเทียมกันมากขึ้นในการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ “มันหมายถึง
การสิ้นสุดของการแข่งขันกันเก็บภาษีต่ำที่สุดที่ดำเนินมา 30 ปี”

ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่พยายามมานานหลายปีที่จะ “ปฏิรูประบบภาษีโลก” หลังจากเผชิญปัญหาบริษัทข้ามชาติและบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีการหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการโยกผลกำไร
ไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำโดยไม่ต้องสนใจว่ายอดขายของพวกเขาเกิดขึ้นที่ใด

รายได้ที่เป็นนามธรรม อย่างเช่น สิทธิบัตรยา ซอฟต์แวร์ และค่ารอยัลตี้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาถูกโอนย้ายไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีสูง ๆ ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

ปัญหาทางการเมืองทำให้แนวคิดเรื่องอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำระดับโลกไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะหลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ขัดขวางแนวคิดนี้เพราะทรัมป์ต้องการใช้นโยบายภาษีนิติบุคคลต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุน จึงได้ลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 21% ทำให้สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำที่มีอัตราภาษีต่ำ

แต่เมื่อ “โจ ไบเดน” เข้ารับตำแหน่งก็มีแนวคิดจะเพิ่มภาษีกลับไปที่ 28% เพื่อจะมีรายได้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามที่ประกาศไว้ ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การกำหนดภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำกลับมาเดินหน้าต่อไปได้ เพราะถือว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐแล้ว

ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้สร้างความพอใจและความหวังให้กับหลายประเทศที่อยากเห็นการบรรลุข้อตกลง เช่น บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ซึ่งเคยปะทะกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นภาษี
ระหว่างประเทศมาแล้ว บอกว่ารู้สึกยินดีที่สหรัฐเปลี่ยนจุดยืน ตอนนี้ข้อตกลงเรื่องภาษีระหว่างประเทศอยู่แค่เอื้อม เราต้องฉวยโอกาสแห่งประวัติศาสตร์นี้ไว้

ส่วน “โอลาฟ โชลซ์” รัฐมนตรีคลังเยอรมันระบุว่า ทั่วโลกจะสามารถยุติการแข่งขันภาษีต่ำสุด ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่ใช้ภาษีต่ำเพื่อดึงดูดนักลงทุนไม่ค่อยพอใจนัก เช่น รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์บอกว่าจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศเล็ก ๆ

หากประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องเรื่องอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ รัฐบาลต่าง ๆ จะยังสามารถกำหนดภาษีนิติบุคคลในประเทศของตนได้ตามที่ต้องการ แต่ถ้าหากบริษัทหรือนิติบุคคลเหล่านั้นจ่ายภาษีในประเทศใดประเทศหนึ่งใน
อัตราที่ต่ำกว่าประเทศแม่ของบริษัทนั้น ๆ สามารถเพิ่มการเก็บภาษีบริษัทดังกล่าวขึ้นไปให้เท่ากับอัตราภาษีขั้นต่ำที่นานาชาติตกลงกันไว้ อันจะป้องกันไม่ให้บริษัทต่าง ๆ โยกผลกำไรไปยังประเทศหรือดินแดนที่มีการเก็บภาษีต่ำ

อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกควรจะเป็นเท่าใด นับเป็นปัญหาที่ยุ่งยากไม่น้อย แต่มีรายงานว่าตามการปรึกษาหารือของกลุ่มประเทศโออีซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ 12.5% ซึ่งบังเอิญไปสอดคล้องกับอัตราของประเทศไอร์แลนด์

แต่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันเสนอว่า อัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลกควรเป็น 21% ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะถูกคัดค้านจากประเทศ ที่เก็บภาษีต่ำ เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไอร์แลนด์บูมจากอานิสงส์ด้านภาษี ขณะที่ก่อนหน้านี้การศึกษาของหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติได้แนะนำว่าภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำควรอยู่ระหว่าง 20-30%

ตามการประเมินของโออีซีดีชี้ว่า การกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำจะทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกเสียภาษีเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์


ทั้งโออีซีดี และจี 20 จะร่วมมือกันผลักดันระบบภาษีขั้นต่ำนี้ โดยหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้กลางปีนี้