เมื่อ “ญี่ปุ่น-อินเดีย-ออสเตรเลีย” จูงมะกันต้านอิทธิพลจีน

ในระหว่างการประชุมกลุ่มจี 20 นครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โครงการ “วัน เบลต์ วัน โรด” (โอบีโออาร์) ของจีน ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น

แม้แต่ “ชินโสะ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเอง ยังแสดงท่าทีชัดเจน เต็มใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนพัฒนาสาธารณูปการระดับโลกของจีน

หลายคนแปลกใจด้วยเหตุที่ว่า ก่อนหน้านั้น ท่าทีของญี่ปุ่นไม่อยากเห็นการแผ่อิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนประสบผลสำเร็จ ถึงระดับสามารถครอบงำทั้งภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอด

มีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ผู้นำญี่ปุ่นประกาศดังกล่าวออกไปเพราะเกรงว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลายอาจ “ตกขบวน” โครงการก่อสร้างมูลค่ามหาศาลนี้ ไม่ว่าจะส่วนที่ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง หรือภูมิภาคอื่นใดไปทั้งหมด

ข้อสังเกตดังกล่าวกลายเป็นจริงในอีก 3 เดือนต่อมา เมื่อนายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อปลายเดือนตุลาคมนี้ว่า ทางญี่ปุ่นกำลังเตรียมการใช้โอกาสที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการในราวต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จัดการเจรจา “ระดับสูง” ขึ้นระหว่างยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าภายใต้กรอบการค้าเสรีและความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ” ขึ้นในระหว่างประเทศที่มีอาณาบริเวณติดต่อหรือเชื่อมโยงกับทะเลจีนใต้, มหาสมุทรอินเดีย และเลยไปไกลจนถึงทวีปแอฟริกา

ไม่ยากที่แผนการสร้างความร่วมมือใหม่ดังกล่าวจะถูกมองว่า เป็นความพยายามที่จะสกัดกั้นการแผ่อิทธิพล หรือ “ถ่วงดุล” อำนาจและอิทธิพลที่กำลังเพิ่มมากขึ้นตามลำดับของจีน

รัฐมนตรีโคโนะถึงกับบอกเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ได้จัดทำข้อเสนอให้ “ประเทศนอกภูมิภาค” อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ เข้าร่วมในการก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือดังกล่าว ในฐานะ “ประเทศผู้ให้ความร่วมมือ”

ในทางการทูต ญี่ปุ่นย่อมไม่อาจยอมรับว่า แผนดังกล่าวคือความพยายามถ่วงดุลอำนาจอิทธิพลของจีน “เราอยู่ในยุคซึ่งญี่ปุ่นจำเป็นต้องแสดงบทบาททางการทูตระหว่างประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ที่วางเอาไว้ หากทะเลจีนใต้เปิดกว้างและมีเสรีสำหรับทุกคน ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับทุกประเทศ รวมทั้งจีน และแผนงานโอบีโออาร์ของจีน” โคโนะกล่าว

นักสังเกตการณ์ทั้งหลายรู้ดีว่า ญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักเพื่อสร้าง “เอกภาพ” ขึ้นระหว่างนานาชาติ เพื่อต้านทานรัฐบาลปักกิ่ง เห็นได้ชัดนับตั้งแต่ปี 2015 เรื่อยมา เมื่อจีนเมินเฉยต่อเสียงเรียกร้องและการประท้วงของนานาชาติ ในการส่งกำลังเข้าไปในเกาะแก่งหลายแห่งในทะเลจีนใต้ แสดงตนเป็นเจ้าของและพัฒนาสิ่งปลูกสร้างทางทหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเทศที่ร่วมอ้างสิทธิเหนือดินแดนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย และบรูไน ต่างยื่นประท้วง ในขณะที่แวดวงประชาคมนานาชาติออกมาประณามการยึดครองฝ่ายเดียว หลายฝ่าย โดยเฉพาะญี่ปุ่นกังวลมากว่า วิธีการทำนองเดียวกันนี้ของจีนอาจนำมาใช้ในอีกหลาย ๆ ที่หลาย ๆ แห่งทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อให้ได้ “ตามความต้องการ” ของตนเอง

รองศาสตราจารย์ด้านการต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมจากมหาวิทยาลัยไดโตะ บันกา ของญี่ปุ่น มั่นใจว่า ออสเตรเลียกับอินเดียจะสนใจและเข้าร่วมในความคิดริเริ่มของญี่ปุ่นครั้งนี้ เพราะนับตั้งแต่ผิดหวังกับการเลิกล้มความตกลงจัดตั้งความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ทั้งออสเตรเลียและอินเดียพยายามไม่น้อยในการแสวงหา “เวทีใหม่” ระหว่างประเทศ ที่ทำให้ชาติเหล่านี้สามารถรวมตัวและร่วมกันดำเนินการฟื้นฟูแนวทางของทีพีพีขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้

ทั้งออสเตรเลียและอินเดีย วิตกกับการรุกคืบของจีนไม่น้อยไปกว่าญี่ปุ่น ทางการออสเตรเลียอึดอัดใจไม่น้อยที่บริษัทของจีน สามารถทำความตกลง “เช่า” ท่าเรือแห่งหนึ่งในดาร์วิน ทางตอนเหนือของประเทศที่ถือเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์สำคัญ ขณะที่อินเดียก็กำลังจับตามองการลงทุนของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในศรีลังกา ถึงขนาดก่อสร้างท่าเรือใหม่ให้ทั้งหมด และกลายเป็นจุดแวะเยือนของเรือรบจากกองทัพเรือจีนไปแล้ว

คำถามสำคัญที่หลงเหลืออยู่ก็คือว่า สหรัฐอเมริกาจะเอาด้วย ตามคำเชิญของญี่ปุ่นครั้งนี้หรือไม่ ถ้ามองย้อนกลับไปที่ตัว โดนัลด์ ทรัมป์ หลายคนยอมรับว่า โอกาสคงมีไม่มากนักเหมือนกัน